Neric-Club.Com
  สารบัญเว็บไซต์
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
13997098  

กระดานแสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเว็บบอร์ด คลิกที่นี่ /  เข้าสู่ระบบ    

ครูพันธุ์แท้

ตั้งกระทู้เมื่อ
14 ก.ย. 2557
  เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา
     ในกระแสการปฏิรูปการศึกษาไทยที่เหมือนน้ำเชี่ยวกราก เรือแจว เรือจ้าง เรือพาย ต่างคัดท้ายกันสุดฝีพาย เรือเกลือไม่ปรับระบบคงอยู่ยาก ขอเป็นกำลังใจให้กัปตันและลูกเรือ หางเสือและฝีพาย กับตันต้องใช้เข็มทิศตัวเดียวกันจะได้ไปถึงที่หมายรอดปลอดภัย อย่างไรก็อย่าให้เป็นเรืออลังการเว่อร์แต่ไม่สามารถข้ามผ่านอุปสรรคอย่างไททานิคก็แล้วกัน เสียดายบลูไดมอน
     ความชัดเจนของนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนี้บทความที่ได้นำมาวางให้ซึมซับกันค่ะ
 
ปฏิรูปการศึกษา ภายใต้คำประกาศของ คสช.
 
เพชร เหมือนพันธุ์ : ข้าราชการบำนาญ (อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ เขต1)
           
 
 
     แสงสว่างเล็กๆ ได้เกิดขึ้นท่ามกลางของความมืดมนในการแก้ปัญหาความตกต่ำด้านคุณภาพการศึกษาไทยมาเป็นเวลาที่ยาวนาน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงนโยบาย (คสช.) เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลา 20.20 น. ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หลังจากวันทำรัฐประหารมาได้ 22 วัน ในหัวข้อ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่งเป็นเหมือนคำสัญญาประชาคม (Declaration commitment) ที่หัวหน้า คสช.ได้ประกาศต่อสาธารณะ
            รายละเอียดในคำประกาศบางส่วน มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่หลายคนเป็นห่วง ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายงานที่ 3 คือ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นผู้กำกับดูแล ก่อนที่จะมีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมารับผิดชอบ ความว่า
            "ระบบการศึกษา ที่หลายคนเป็นห่วงนั้นจะทำการปรับปรุงทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติไทย ความมีวินัย มีศีลธรรม ให้คำนึงถึงผลประโยชน์รวมของประเทศ รู้จักหน้าที่ของตน รู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ การบริหารการจัดการการศึกษามุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล
            การบริหารจัดการศึกษา มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล วันนี้ก็ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการ ทั้งครูและนักเรียนการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการพัฒนาด้านวัตถุหรืออะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้มากๆ วันนี้เราต้องดูเด็กก่อนว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ต้องมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
            การผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงงานคุณภาพหรือแรงงานมีฝีมือของประเทศนั้น จะต้องมีงานทำ ก็จะให้ดูเรื่องการศึกษาของพวกช่างกล ช่างฝีมืออะไรต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้จบมาแล้วมีงานทำ
            เรื่องนมโรงเรียน ได้อนุมัติให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อ.ส.ค.) เป็นผู้บริหารจัดการนมทั้งระบบ และเน้นย้ำให้มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับประทานอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย
            เรื่องการส่งคืนเงินกู้ กยศ.ต้องดูให้ครบทั้งระบบ ทำไมเด็กไม่ส่งคืนเงินกู้ ระบบการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เด็กที่กู้ยืมเงินไปจบแล้วไม่มีงานทำ เด็กไม่มีรายได้ เด็กจึงไม่มีเงินส่งคืน
            กระทรวงศึกษาธิการต้องกลับไปทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ผมต้องการให้มุ่งเน้นสายอาชีพให้มากขึ้น วันนี้แรงงานต้องมีการพัฒนา"
            นี้คือคำมั่นสัญญาที่หัวหน้า คสช.ได้ประกาศไว้ กระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่โดยตรงต้องรับเอานโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือการนำนโยบายไปแปลเป็นยุทธศาสตร์ เกรงว่าจะแปลผิดพลาดเจตนารมณ์ของผู้ประกาศ เหมือนคำกล่าวที่ว่า "หลายคนยลตามช่อง หลายคนมองเห็นโคลนตม คนเดียวตาแหลมคม เห็นเดือนดาวอยู่พราวพราย"
            นักการศึกษาไทยมีหลายระดับ ระดับมหาวิทยาลัยคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับในกระทรวงศึกษาธิการคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนคิดอีกแบบหนึ่ง น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกรงว่าจะแปลนโยบายไม่เหมือนกัน
            เมื่อแรกรับนโยบาย คนในกระทรวงศึกษาธิการบางท่านบอกว่า ต้องเพิ่มเนื้อหาในหลักสูตร เป็นวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในนโยบาย เพิ่มคาบการเรียนการสอนเข้าไป ส่วนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบอกว่า เนื้อหาวิชาดังกล่าวในนโยบายมีอยู่แล้วในเนื้อหาสาระกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ไม่ต้องเพิ่มคาบการเรียนในหลักสูตรเพียงแต่จัดทำหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาสาระดังกล่าวเพิ่มเติม
            ครูผู้สอนอาจแปลไปอีกแบบหนึ่งหรือรอรับคำสั่งอย่างเดียวไม่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ท่านอยากให้ทำอะไรโปรดสั่งมาครูรับสอนได้หมด เหมือนดังเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดมาแล้ว คือเมื่อผู้ใหญ่ที่มีอำนาจไปดูงานหรือไปเห็นอะไรที่ดีมาก็จับมาใส่ไว้ในหลักสูตร จับมาใส่ไว้ในห้องเรียน สั่งให้ครูจัดการเรียนการสอน ครูก็จัดให้เด็กได้เรียนจนจบเนื้อหาตามหลักสูตร แต่ผู้เรียนรับเอาที่ใส่ไว้ในหลักสูตรทั้งหมดไม่ได้ เหมือนแก้วเล็กๆ ที่บรรจุน้ำเต็มแล้วแม้ว่าท่านทั้งหลายจะพยายามเทน้ำใหม่ใส่เข้าไป น้ำนั้นก็คงล้นออกเสียทิ้งไปเปล่า เสียทั้งแรงเสียเวลา
            เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ คงจะรับสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการบรรจุไว้ในสมองของเขาทั้งหมดไม่ได้
            การปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะหลักสูตรบางรายวิชา ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการสอนของครู เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนในชั้นเรียนของนักเรียน เปลี่ยนแปลงระบบการได้ฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนามหรือสถานปฏิบัติการ หรือต้องได้ออกฝึกงาน เปลี่ยนแปลงระบบการวัดผลที่ไม่สะท้อนให้เห็นความรู้ความสามารถของผู้เรียนจริง ไม่ใช่ กา ก) ข) ค) ง) จากคำตอบที่ผู้ออกข้อสอบจัดหาไว้ให้แล้ว และยังสร้างโอกาส หรือเปิดให้เด็กทุจริตในการสอบได้ คือลอกข้อสอบกันได้ง่ายขึ้น
            เนื้อหารายวิชาที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำหนดมานั้นคือบางส่วนของหลักสูตรเท่านั้น ไม่ใช่หลักสูตรทั้งหมด ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายเนื้อหาวิชาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริงที่ไม่ได้กำหนดไว้ในเนื้อหาวิชาตามหลักสูตร เช่น ความรู้ด้านการเงินการบัญชีเบื้องต้นซึ่งเด็กทุกคนต้องใช้เงินทุกวัน ต้องวางแผนการเงินเป็น ทักษะพื้นฐานทางวิชาช่างต่างๆ พื้นฐานทางวิชาเกษตรกรรม พื้นฐานทางวิชาการค้าการพาณิชย์ พื้นฐานทางการเป็นผู้ประกอบการเบื้องต้น ฯลฯ
            เนื้อหาวิชาปัจจุบัน ที่บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาในระดับอุดมศึกษาบางรายวิชา ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบัน ไม่สัมพันธ์กับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของคนในยุคใหม่ ในโลกยุคใหม่ สมัยก่อนกระทรวงศึกษาธิการมีกรมวิชาการที่มาดูแลเรื่องหลักสูตร ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว กรมวิชาการถูกยุบไปเรียบร้อยแล้ว
            หลักสูตรเป็นเรื่องของกระทรวงซึ่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรมาดูแล มีหลายรายวิชาที่เนื้อหาไม่มีประโยชน์กับชีวิตปัจจุบันของคนในบางสังคม ใช้เวลาเรียนเสียไปกับขยะรายวิชาที่เด็กไม่สนใจเรียน เด็กโดดเรียนบางครั้งเกิดจากสาเหตุรายวิชาเรียนไม่น่าสนใจ
            การปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของ คสช.ครั้งนี้ รูปแบบการปฏิรูปก็ไม่ได้ต่างจากการปฏิรูปที่ล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมา คือเพิ่มเนื้อหาวิชา หรือจัดกลุ่มวิชาเรียนเฉยๆ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีเรียน ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลการเรียน จึงยังมองไม่เห็นอนาคต ถ้าลองเปรียบเทียบการปฏิรูปการศึกษากับการเป็นพ่อครัวปรุงอาหาร คสช. ก็คือพ่อครัวคนใหม่ที่ยังใช้ภาชนะเดิม ใช้เครื่องปรุงอาหารแบบเดิม เพียงเสริมเติมแต่งบางส่วนที่ท่านคิดว่ามันขาดไปเท่านั้น เสมือนพ่อครัวทำกับข้าว พ่อครัวในอดีตก็ทำเหมือนกับคณะท่านคือหาส่วนที่ขาดไปมาเติม แต่ไม่ได้คำนึงถึงขนาดของหม้อปรุง พอถึงคิวของท่านทำกับข้าว ท่านชิมอาหารหม้อเก่าที่เขาปรุงไว้แล้วท่านเห็นว่ามันจืดไปท่านก็ให้เติมเกลือหรือน้ำปลา หรือหากมีพ่อครัวคนต่อไปอีกมาชิมอีกก็บอกว่ามันยังหวานไม่พอ ต้องใส่น้ำตาลลงไป พอถึงพ่อครัวคนที่สามมาถึงก็บอกว่ายังเปรี้ยวไม่พอ ก็ให้บีบน้ำมะนาวลงไป พอถึงคนที่สิบอาหารหม้อนั้นก็คงกินไม่ได้ โบราณบอกว่า "พ่อครัวหลายคนปรุงอาหารไม่อร่อย" ใช้พ่อครัวที่มีความเชี่ยวชาญด้านปรุงอาหารเพียงคนเดียวเท่านั้นอาหารก็อร่อยได้
            เหมือนการบริหารประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีหลายคนก็บริหารไม่ได้ ใช้คนหลายก๊ก หลายเหล่า หลายพรรค หลายพวก ไม่เคารพกฎกติกา ไม่มีวัฒนธรรม ในที่สุดประเทศก็เดินไม่ได้ จนท่านจำเป็นต้องออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการแก้ปัญหาหาทางออกประเทศ การศึกษาก็ไม่ต่างกันเพราะที่ผ่านมามีแต่ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างโรงเรียน ไม่รู้ปัญหาจริง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ตอบโจทย์ คุณภาพจึงไม่เพิ่ม ใช้งบประมาณทุ่มลงไปเหมือนหมอชาวบ้านที่พยายามกรอกยารักษาโรคให้คนป่วย พยายามเพิ่มยาเข้าไปมากๆ เพื่อให้คนป่วยหายเร็ว ก็มีแต่จะทำให้คนป่วยอาการหนักมากขึ้นหรือตายเร็วขึ้น
            การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ท่านมีอำนาจพิเศษ ท่านต้องใช้อำนาจพิเศษจัดการปฏิรูปการศึกษา ใช้คนที่มีความรู้มีความสามารถจริง ซึ่งในประเทศไทยก็ยังพอหาได้ โรงเรียนนานาชาติทั้งหลายโรงเรียนที่เขาประสบผลสำเร็จ หรือโรงเรียนดีๆ ของไทยเพื่อเป็นต้นแบบเขายังทำได้ ของบางอย่างเราอาจเรียนรู้จากคนอื่น ของบางอย่างอาจเลียนแบบหรือก๊อบปี้ เขาเพื่อจะได้พัฒนาตนเอง
            หลักสูตรคือทั้งหมดที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนไม่ใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรเท่านั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ครูออกแบบหรือสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้เผชิญปัญหาเอง ได้แก้ปัญหาเองก็คือแก่นที่สำคัญของหลักสูตร หลักสูตรจึงเป็นเสมือนพิมพ์เขียวแบบรูปรายการ ครูคือช่างก่อสร้างที่จะต้องนำเอาแบบรูปรายการไปปฏิบัติหรือไปก่อสร้าง ถ้าพิมพ์เขียวดีแต่ช่างไม่มีฝีมือก็โทษช่าง หรือถ้าช่างมีฝีมือแต่ถ้าแบบไม่ดี มีวิศวกรรับรองก็ต้องโทษแบบ
            การได้ฝึกภาคสนามทำให้ทหารแก่ง การได้ออกสู่สมรภูมิรบจริง สอนให้ทหารรู้จักเอาตัวรอด การได้เผชิญหน้าปัญหาวิกฤตทำให้ทหารต้องตัดสินใจ การเผชิญสถานการณ์จริงจะสร้างเด็กให้รู้จักคิด การได้ลงมือปฏิบัติจริงฝึกให้เขาได้ตัดสินใจ การจัดการเรียนการสอนในบางประเทศเขาเรียนทฤษฎีในภาคเช้า ภาคบ่ายเขาให้ลงมือฝึกปฏิบัติ ลดคาบการเรียนในห้องลง เพิ่มการได้ปฏิบัติจริงที่บ้านกับอาชีพของบรรพบุรุษ ช่วยงานพ่อแม่ หรือเข้าฝึกสถานปฏิบัติการใกล้บ้าน
            สมัยผู้เขียนเป็นเด็กโรงเรียนปิดเทอมให้เด็กไปดำนา ปิดเทอมให้เด็กไปเกี่ยวข้าวช่วยพ่อแม่ ทำให้เด็กไม่ลืมกำพืดของตนเอง มีความผูกพันกับท้องถิ่นสูง


Krootanoi

ตอบกระทู้เมื่อ
14 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 1
เคยอ่านบทความของท่านผอ.เพชร เหมือนพันธุ์ ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ถ้าท่านได้รับคัดเลือกเข้าสภาปฎิรูปแล้วนำหลักการต่างๆตามแนวคิดที่นำเสนอลงปฏิบัติอย่างจริงใจ จริงจังและยั่งยืน นาวาการศึกษาไทยต้องถึงฝั่งแน่นอนค่ะ เห็นด้วยอย่างมากกับคณะ คสช.ว่าคนเก่ง คนดี คนกล้าต้องออกมาร่วมกันช่วยโปเยโปโลเยซ่อมชาติค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดดเดี่ยวเพราะถ้าท่านจริงใจ จริงจังอย่างยั่งยืนแล้วคนดี คนเก่งอื่นๆที่ซุกซ่อนอยู่จะออกมาช่วยท่านรบแน่นอนเลย



Jaew

ตอบกระทู้เมื่อ
14 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 2
เห็นด้วยกับตะนอยค่ะ
 
     "การศึกษาขั้นพื้นฐานคือฐานรากที่จะรองรับการศึกษาระดับสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ คุณภาพ การศึกษาไทยที่ตกต่ำแล้วตกต่ำอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการศึกษาที่ผิดพลาดในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนสมัยเป็นเด็กมัธยมศึกษาเรียนอยู่บ้านนอกต่างจังหวัด ผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาก Top ten ของโรงเรียน แต่พอสอบแข่งขันเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ เทอมแรกที่ตั้งใจว่าจะทำเกรดให้สูงครองอันดับต้นๆ ให้ได้ แต่พอผลการเรียนเทอมแรกออกมาตกลงไปอยู่ในระดับบ๋วยสุดของชั้น ตกใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าตนเองเรียนแย่ขนาดนั้น หรือโง่ขนาดนั้น ต้องใช้เวลาปรับตัวเองปรับฐานการเรียนรู้ใหม่ถึงสองปีจึงดึงคะแนนกลับขึ้นมาอยู่ในระดับทันเพื่อนได้
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพื้นฐานการเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเดิมมา ยังไม่แกร่งพอเหมือนกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ ผู้เขียนยังมั่นใจว่าตนเองไม่ได้โง่ แต่วิธีการเรียนในโรงเรียนบ้านนอกสู้โรงเรียนในเมืองใหญ่ไม่ได้ หรือไม่ดีพอเท่านั้นเอง
    
      คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งๆ ที่ นักวิชาการทั้งหลาย หรือรัฐมนตรีทั้งหลาย หรือดอกเตอร์จากเมืองนอกจากเมืองไทยทั้งหลายจะพยายามทุ่มเทแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเทงบงบประมาณอย่างท่วมท้นก็ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ อาการยังไม่ฟื้น ยังไม่ตอบสนองต่อยาแรงที่ให้ไป ทำให้คิดไปถึงภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่ง ที่มีภาพของกลุ่มตำรวจไทยบุกค้นบ้านผู้ต้องสงสัย โดยพยายามใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่องัดประตูห้องเข้าไป แต่ก็เปิดไม่ได้ต้องใช้เวลาอยู่นานจนอ่อนใจ แต่ในที่สุดก็มีตำรวจนายหนึ่งเคาะประตูห้องนั้น แล้วก็มีชายชราคนหนึ่งที่พักอาศัยอยู่ในห้องนั้นได้เปิดลูกกลอนประตูออกมาทำให้ตำรวจเข้าไปได้อย่างง่ายดาย โดยชายชราที่อยู่อาศัยในห้องนั้นไม่รู้ว่าตำรวจต้องการเข้ามาค้นหาอะไร เหมือนกับภาพการปฏิรูปการศึกษาไทยที่คนภายนอกโรงเรียนพยายามทุ่มเทแก้ไขทุกอย่างแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ คนภายในโรงเรียนเองก็สะบักสะบอม
 
     การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ที่โรงเรียน ต้องแก้ที่ระบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นด่านแรกของการเปิดประตูเข้าไปสู่โลกของความรู้ครูต้องเตรียมเด็กให้ถูกวิธี เป้าหมายแรกคือการสอนให้นักเรียนอ่านออกอ่านคล่อง เขียนได้เขียนคล่อง คิดเลขได้คิดเลขคล่อง ขั้นต่อมาก็คือต้องสร้างนิสัยให้เด็กรักการอ่าน มีความสุขในการอ่าน โดยให้เริ่มต้นอ่านในสิ่งที่เด็กสนใจก่อน เช่น อ่านหนังสือการ์ตูน อ่านนิทาน หรือให้อ่านประวัติบุคคลสำคัญ ให้อ่านหนังสือที่ชวนสนุกน่าติดตามจนเด็กเกิดนิสัยรักการอ่าน ส่วนการเขียนเมื่อเขียนคล่องแล้วก็ต้องสร้างนิสัยรักการเขียน โดยให้เขียนสิ่งที่ใกล้ตัว สิ่งที่เด็กมีความรู้อยู่แล้ว เช่น ให้เขียนบันทึกประจำวัน ให้เขียนเล่าเรื่องราวของตนเอง ให้เขียน Line ถึงเพื่อน ให้เขียน Chat ในกลุ่มเพื่อนจนเกิดเป็นนิสัย ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ต้องสร้างนิสัยรักการคิดคำนวณมองเห็นความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นตัวเลข พ่อแม่ให้เงินไปโรงเรียนวันละกี่บาท ใช้เงินอย่างไรจึงจะคุ้มค่า ใช้อย่างไรจึงจะเหลือเก็บ มีการทำบัญชีรับจ่ายอย่างง่าย จนเกิดเป็นนิสัยรักตัวเลข มองรายรับรายจ่ายในอนาคตตนเองได้ สามารถพยากรณ์รายรับรายจ่ายในอนาคตได้
 
     การสอนคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หาร ก็เริ่มจากการนับนิ้วมือ การนับสตางค์ที่พ่อแม่ให้มาโรงเรียน การสร้างโจทย์คณิตศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง เห็นอะไรเกิดขึ้นสามารถคิดออกเป็นตัวเลขได้หมด ประมาณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านหูผ่านตาได้หมดจนเกิดเป็นนิสัย ปกติเด็กที่เรียนชั้น ป.1 ก็จะสามารถอ่านหนังสือได้ อ่านแบบแจกรูปสะกดคำได้ พอถึงชั้น ป.2 ก็จะอ่านคล่องเขียนคล่อง พอถึงชั้น ป.3 เด็กก็จะอ่านเก่งเขียนเก่ง เขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้ นี่คือธรรมชาติของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนโดยทั่วไป อาจมีข้อยกเว้นที่มีบางโรงเรียนเร่งเด็ก เด็กอาจอ่านออกเขียนได้ก่อนชั้นที่กล่าวมานี้ หรืออ่านออกตั้งแต่ชั้นอนุบาล สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาคือการสร้างนิสัยหรือการปลูกฝังนิสัย ให้นักเรียนรักการอ่าน รักการเขียน รักตัวเลข รักการคิดคำนวณตลอดเวลา การสร้างนิสัยจึงเป็นการให้การศึกษาอบรมที่ถูกต้อง เพราะคำว่าศึกษาหรือสิกขา หมายถึงไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา
 
      การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติต้องได้เรียนรู้จากการกระทำ Learning by doing ได้รับการฝึกฝนอบรม โรงเรียนประจำ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนทหาร เขามีความรักมีความผูกพันกันเพราะเขาสร้างวัฒนธรรมของสถาบันเขาได้ โรงเรียนฝึกหัดครูสมัยก่อนที่ประสบผลสำเร็จเพราะเขาปลูกฝังจรรยาบรรณการเป็นครู การได้ไปฝึกสอนในโรงเรียนจริงโดยมีครูพี่เลี้ยงและอาจารย์นิเทศก์คอยดูแล
 
   การสร้างนิสัยให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน หรือ Stay hungry stay foolish ของท่าน Steve job จึงเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา การเป็นผู้ใฝ่รู้ ผู้หิวกระหายที่จะเรียน การรักการอ่าน การรักการคิด การรักการเขียน จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตขั้นปฐมภูมิที่ครูจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กให้ได้ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นไปเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่กว่า ส่วนศาสตร์ต่างๆ ใน 8 สาระ หรือใน 8 รายวิชานั้น เป็นเนื้อหาหลักสูตรที่เป็นความต้องการของประเทศ หรือเป็นเจตนาดีของผู้ใหญ่ เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของเยาวชนที่ใช้เป็นบันไดก้าวเดินต่อไปยังบทเรียนข้างหน้า ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ หลายอย่างเป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นความรู้ที่ยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ แต่ก็มีอีกหลายศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้สมัยใหม่ในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
      ในสมัยก่อนความรู้ทั้งหลายอยู่ในตัวครู เด็กต้องมารับความรู้จากครู ครูต้องเป็นเจ้าสำนัก เป็นเจ้าของความรู้ เป็นเจ้าของความถูกต้อง เด็กอยากมีความรู้ต้องมาแสวงหาครูที่เก่ง แต่โลกในปัจจุบัน โลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เปลี่ยนไปแล้ว ความรู้มีอยู่ทั่วไป ความรู้มีอยู่ในอากาศ ความรู้มีอยู่ใน Google ความรู้มีอยู่ใน You tube ความรู้มีอยู่ใน Computers ความรู้ไม่ได้มีผูกขาดอยู่ที่ตัวครูแล้ว บทบาทของครูจึงไม่เหมือนเดิม ครูไม่ใช่คนที่จะเทความรู้จากหัวสมองของครูมาให้เด็กเหมือนสมัยโบราณแล้ว หน้าที่ใหม่ของครูจึงเป็นเพียงโค้ช เป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้ที่ชี้ช่องบอกทางแนะนำเทคนิคการสืบค้นใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกับผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้ลงมือฝึกฝน ค้นคว้า ได้ลงมือปฏิบัติได้ค้นพบด้วยตนเอง
 
     การออกแบบการสอนจึงไม่เหมือนสมัยก่อน แผนการสอนสมัยใหม่ Lesson plan ที่กำลังมาแรงคือการสอนแบบโครงงาน หรือ Project base เป็นสิ่งที่ผู้มีอาชีพครูในยุคนี้ต้องทำเป็น ต้องให้ผู้เรียนได้บูรณาการความรู้ต่างๆ ที่มีหรือที่ได้เรียนมา มาจัดทำเป็นโครงงานโดยมีครูหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติตามกรอบที่ได้ออกแบบไว้ ให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจ ได้แก้ปัญหา ได้คิดวิเคราะห์ ได้คิดแบบวิพากษ์ ได้ลงมือปฏิบัติ ฯลฯ ให้เรียนรู้ผ่านการทำโครงงานเดี่ยว หรือโครงงานกลุ่ม หรือให้เด็กได้ออกหาประสบการณ์จากการฝึกงานจริง
 
   เมื่อผู้เรียนทำโครงงานสำเร็จแล้ว ต้องมีเวทีให้ผู้เรียนได้นำเสนอ ครู ต้องสร้างเวที หรือหาโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเสนอโครงงาน หรือการ Presentation จะเป็นการแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เป็นการสรุปความคิดร่วมยอดของผู้เรียนที่ได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้แบบการทำโครงงานมา อย่างต่างประเทศบางประเทศ (Canada ที่ผู้เขียนเคยไปเห็นมา) ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาดูการนำเสนอของนักเรียนตอนสิ้นเทอม หรือสิ้นปีการศึกษา ทั้งนักเรียนครูและผู้ปกครองต่างรอวันนี้ เด็กได้เตรียมวางแผน ฝึกซ้อมนำเสนอโครงงานมาตลอดเทอมหรือตลอดปีการศึกษา เพื่อแสดงผลงานที่เขาได้เรียนมาตลอดปี จัดได้ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจมาก
 
    การเล่นคือการเรียนรู้ที่จะให้เด็กได้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักกฎ กติกามารยาททางสังคม รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย การให้เด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เล่นกับเพื่อนจึงเป็นการเรียนชนิดหนึ่ง กิจกรรมการเล่นมีทั้งอยู่ในหลักสูตรและอยู่นอกหลักสูตร การเล่นแบบมีโครงสร้าง เช่น การเล่นกีฬา การเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี การเข้าร่วมกิจกรรมชมรมต่างๆ ส่วนการเล่นที่ไม่มีโครงสร้างคือให้ เด็กสามารถคิดออกแบบได้เอง ดังนั้น โรงเรียนต้องฝึกหรือให้โอกาสเด็กได้เล่นด้วย
 
    การวัดผลการเรียนรู้ในสมัยใหม่นี้ก็ต้องใช้เครื่องมือวัดประเมินผลที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของบทเรียน ข้อทดสอบแบบเลือกตอบ ก ข ค ง ไม่สามารถวัดผลศักยภาพของเด็กได้ทุกอย่าง เป็นได้เพียงยาบรรเทาอาการปวดชั่วคราว เหมือนยาพาราเซตามอล หรือยาเม็ดสีชมพูที่ใช้รักษาสารพัดโรคนั้น ควร/ต้อง เลิกใช้ได้แล้ว ข้อสอบแบบ Multiple choice จึงเป็นข้อสอบที่สอนให้เด็กนั่งรอคอยคำตอบค้นหาเองไม่เป็น รอให้คนอื่นจัดหาไว้ให้ ทำให้เด็กขี้เกียจ รอโชคชะตา ทำให้การศึกษาไทยถอยหลังไปยิ่งกว่าวิธีสอนที่แย่ที่สุด เด็กไทยที่เขียนหนังสือไม่เป็นทุกวันนี้เพราะข้อสอบแบบกา เลือกตอบ ก ข ค ง ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เขียนบรรยาย มีหลายประเทศที่ใช้ข้อสอบแบบนี้ให้น้อยที่สุด ยิ่งระบบการวัดผลการศึกษาไทยที่เด็กสอบแล้วตกไม่เป็น เรียนซ้ำชั้นไม่ได้เพราะสามารถสอบแก้ ศูนย์ ร มส. ได้ตอนปลายปี ได้ลากจูงเด็กเหล่านี้ตามเพื่อนไปจนจบชั้น มัธยมศึกษาตอนปลาย แบบไร้คุณภาพ การปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดูคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมาแต่ละปีบัณฑิต สาเหตุหลักมาจากการขาดคุณภาพของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนที่สองเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนการสอนที่ผิดพลาด หรือเกิดจากปัญหาขององค์กรของมหาวิทยาลัย บุคลากรขาดคารวะธรรม ขาดระบบอาวุโส ต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งอธิการกันอยู่แทบทุกมหาวิทยาลัยขุดรากถอนโคนระบบการศึกษาไทยเสียเถิด จัดหลักสูตรให้ทันสมัยเหมาะสมกับวัย จัดการเรียนการสอนแบบใหม่ เลิกระบบอบรมครูตลอดปี เลิกโครงสร้างองค์กรภายนอกที่รบกวนโรงเรียน เลิกระบบการประเมินมาตรฐานการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐาน เลิกการยัดเยียดขยะ (Garbage) รายวิชาต่างๆ ที่ไม่จำเป็นจริงเข้าไปในห้องเรียน ลดคาบการเรียนลง ให้เด็กได้เล่นมากขึ้น ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง เลิก การประเมินมาตรฐานวิชาชีพครูแบบผิดๆ ปล่อยให้โรงเรียนเป็นตัวของตัวเองเพียงพอที่จะดูแลลูกศิษย์ของตนเองได้โดยไม่มากังวลกับหน่วยงานที่มาคอยตรวจสอบจับผิดจนครู เท่านี้แหละ การปฏิรูปการศึกษาไทย ง่ายๆ กล้วยๆ สบายๆ"
 
 เพชร เหมือนพันธุ์ 
 
(ที่มา:มติชนรายวัน 4 ส.ค. 2557)


Tanaew

ตอบกระทู้เมื่อ
14 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 3
ได้บทนี้ของท่านเดียวกันมาแบ่งปันค่ะ จาก แฟนเพจหลักสูตร2557   
 
     การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นความหวังของอนาคตประเทศไทย ยุคไทยก้าวเข้าสู่อาเซียน AEC อยากเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนว่า การออกแบบปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ก็เสมือนการสร้างบ้าน การสร้างบ้านจะให้มีความมั่นคงแข็งแรงสวยงามเพียงใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสองส่วนคือ หนึ่ง แบบรูปรายการ หรือพิมพ์เขียว (Blue Print) และสอง ช่างก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญแบบรูปรายการจะเป็นเค้าโครงที่บ่งบอกถึงรูปโครงสร้างหน้าตาของอาคาร อยากให้เป็นทรงสเปน ทรงอิตาลี ทรงไทย หรือทรงโมเดิร์น อย่างไรก็อยู่ที่ผู้เขียนแบบจะกำหนด อยากให้มีห้องเล็ก มีห้องใหญ่ มีห้องใต้ดินก็จะอยู่ที่ผู้เขียนแบบ ส่วนจะให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง สวยงามอย่างไรอยู่ที่ฝีมือช่างก่อสร้าง
     หลักสูตรใหม่กระทรวงศึกษาฯกำลังออกแบบอยู่ขณะนี้ก็เปรียบเสมือนกำลัง      ออกแบบพิมพ์เขียว (Blue Print) หลักสูตรทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อคือ ลดเวลาเรียนในห้องลง จากปีละ 1,000-1,200 เหลือ 600-800 ชั่วโมง จัดกลุ่มสาระวิชาออกเป็น 6 กลุ่มสาระวิชา ลดลงจากเดิมที่มี 8 สาระวิชา ในระดับชั้นประถมศึกษาจะเรียนวันละ 5 คาบ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาเรียนวันละ 6 คาบ โดยจะจัดให้มีการเรียนนอกห้องเรียนปีละ 400 ชั่วโมง เห็นหน้าตาพิมพ์เขียวหลักสูตรที่ออกมาแล้วรู้สึกว่าเป็นอย่างไรครับ ดูแบบพิมพ์เขียวก่อนที่จะนำไปก่อสร้างในปีการศึกษาหน้า
     การจัดการเรียนนอกห้องเรียนปีละ 400 ชั่วโมง จะจัดการเรียนอย่างไรเพื่อให้เด็กได้ฝึกฝนตนเองกิจกรรมหลายอย่างทางโรงเรียนจัดไว้ให้ จัดเป็นชุมนุมกิจกรรมต่างๆ (Club) เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ อาสาพัฒนา หรืออาจเป็นกิจกรรมนอกโรงเรียนเช่น สมัครเป็นสมาชิกชมรมนักฟุตบอลของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งในต่างประเทศมีชมรมภายนอกโรงเรียนมากมาย ส่วนในเมืองไทยยังไม่ชัดเจน เวลาส่วนนี้ 400 ชั่วโมง กระทรวงศึกษาธิการจะออกแบบให้สถานศึกษาบริหารอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ มีตัวอย่างให้ดูในหลายประเทศ
สอนให้น้อย เรียนให้มาก (Teach Less Learn more) ในประเทศสิงคโปร์ที่ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลกใช้วิธีการเรียนการสอนเช่นนี้ คือครูจะสอนเด็กไม่ใช้เวลามาก แต่จะให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ได้สร้างทักษะ สร้างความชำนาญการเรียนรู้และแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง ในประเทศเยอรมนี เด็กนักเรียนจะเรียนในภาคเช้าเต็ม เรียนภาคบ่าย 1-2 ชั่วโมง ถึงบ่ายสองโมง หลังจากนั้นเด็กจะกลับบ้าน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เขาสนใจ ชมรมต่างๆ เข้าคลับ (Club) แม้เด็กเขาจะเรียนในห้องน้อย แต่เขาเรียนหนักกว่าเด็กไทย ครูเขาจะพูดน้อย แต่เด็กเขาจะเรียนมาก ครูเขาจะให้เด็กได้ฝึก ได้ทำกิจกรรมมาก ส่วนเด็กไทยที่ผ่านมาจะเรียนมาก ทำกิจกรรมน้อย เปรียบเสมือนเราใช้เวลาเรียนปั่นจักรยาน หรือเรียนว่ายน้ำอยู่ในห้องเรียนมากเกินไป แต่ไม่ได้ลงไปฝึกในสนามหรือไม่ได้ลงไปสระว่ายน้ำ การศึกษาไทยจึงคุณภาพลดลงโดยลำดับ
   หลักสูตรและครูผู้สอนจึงมีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด เสมือนคนเขียนพิมพ์เขียวกับช่างก่อสร้าง ช่างก่อสร้างก็เหมือนครู สามารถพัฒนา สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะโดยทักษะ พื้นฐานเขาเป็นช่างโดยอาชีพอยู่แล้ว แม้ว่าจะมี นวัตกรรมใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเขาก็สามารถใช้วัสดุเหล่านั้นก่อสร้างได้ ครูก็สามารถพัฒนาวิธีสอนของตนเองได้เร็วเช่นกัน ขอเพียงผู้ออกแบบเขียนแบบได้ชี้แจงให้เข้าใจก่อน ใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม บ้านหลังใหม่ก็จะเกิดขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียนแบบ ถ้าได้ช่างเก่งๆ ได้ครูเก่ง สิ่งก่อสร้างที่ออกมาก็อาจได้คุณภาพตามแบบที่กำหนดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สร้างบ้านตามแบบพิมพ์เขียวเสร็จแล้ว สอนเด็กให้เรียนตามหลักสูตรใหม่จบแล้ว ไม่ทราบว่าจะถูกใจเจ้าของบ้านจะถูกใจผู้เข้าอยู่อาศัย จะพอใจผู้นำผลผลิตไปใช้หรือเปล่า บางครั้งสร้างเสร็จก็จะได้คำตอบทันที แต่บางครั้งต้องใช้เวลาหลายปี หลักสูตรใหม่ก็เช่นกัน การทดลองสร้าง การทดลองใช้ การ (Try Out) จึงมีความจำเป็น เคยจำได้ไหมครับ บ้านทรงสเปนเคยเป็นที่นิยม เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้บ้านทรงนั้น อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว ไม่เหมาะกับอากาศเมืองไทย
     สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการคือ ระดับประถมศึกษา ป.1-ป.6 ขอให้ลูกอ่านออก เขียนได้ คิดเลขคล่อง เข้ากับเพื่อนได้ มีนิสัยดีใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีแสวงหาความรู้ ได้มีวัฒนธรรมของรักความเป็นไทยเท่านั้นเอง ส่วนในมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-ม.3 เป็นช่วงวัยเด็กที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น โดยธรรมชาติ เด็กต้องการมีสมบัติส่วนตัวที่สามารถผลิตได้ด้วยตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้บางส่วน ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ในทักษะการผลิตเบื้องต้น เช่น เรียนรู้งานไม้ ลานปูน งานไฟฟ้า งานเกษตร อยากเป็นนักแสวงหา วิชาช่างพื้นฐานเด็กควรได้เรียนรู้และได้ฝึกปฏิบัติในระดับนี้ ส่วนในระดับ ม.ปลาย คือชั้น ม.4-ม.6 เด็กควรจะได้เลือกแล้วว่าตนเองจะเรียนในสายวิชาชีพ หรือสายวิชาการ เมื่อได้เลือกเรียนสายใดแล้วเด็กก็จะได้ตั้งใจมุ่งไปสู่ความสำคัญในสายนั้น
     น่าเสียดายที่หลักสูตรในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้
ไม่อยากเห็นความล้มเหลวในการปฏิรูปหลักสูตรในครั้งนี้ มีอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่อยากยกมาประกอบคือ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผู้เขียนได้ไปดูงานโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัด ผลผลิตแป้งมันได้ส่งไปขายยังต่างประเทศทั้งในยุโรปและประเทศจีน ได้ทราบว่าลูกชายได้เข้ามาช่วยดูแลบริษัทด้วย ผมก็ได้คุยเรื่องการศึกษาของลูกชายเจ้าของบริษัทแห่งนี้ ท่านได้เล่าให้ฟังมาสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ลูกชายของท่านได้เข้าเรียนในหลายโรงเรียน เรียนแล้วก็มีปัญหา ถูกครูกล่าวหาว่าไม่รับผิดชอบ เรียนโง่ เรียนไม่ทันเพื่อน ท่านได้ส่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพ ก็เรียนไม่จบ มีข้อกล่าวหาเช่นเดิม
จนในที่สุด ท่านได้ตัดสินใจส่งลูกไปเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ เพียงปีเดียวลูกชายของท่านก็พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง สื่อสารภาษาจีนได้ ผลการเรียนดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ท่านก็เลยสรุปว่า วิธีเรียน วิธีสอนในโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์แตกต่างจากประเทศไทย เขาสามารถสอนเด็กโง่ให้กลายเป็นเด็กที่ฉลาดได้ ปัจจุบันท่านก็ได้ลูกชายที่เรียนจบจากสิงคโปร์คนนี้มาช่วยงานบริษัทของท่าน

      นักปฏิรูปและนักศึกษาทั้งหลายไม่ลองหันกลับมาดูข้อผิดพลาดบางประการของตนเองบ้างหรือครับ ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ยืมแทคติค ดีๆ ของเขามาใช้ เผื่อจะได้ประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้

"เด็กไทยที่ผ่านมา จะเรียนมาก ทำกิจกรรมน้อย เปรียบเสมือนเราใช้ เวลาเรียนปั่นจักรยาน หรือเรียนว่ายน้ำอยู่ในห้องเรียนมากเกินไป การศึกษาไทยจึงคุณภาพลดลงโดยลำดับ"



KTC

ตอบกระทู้เมื่อ
15 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 4
นักการศึกษาไทยมีหลายระดับ ระดับมหาวิทยาลัยคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับในกระทรวงศึกษาธิการคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนคิดอีกแบบหนึ่ง น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกรงว่าจะแปลนโยบายไม่เหมือนกัน


KETH

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 5

สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย

 
 
     ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้การเรียนการสอนดีขึ้น ต้องเน้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กนักเรียน คุณภาพของครูเท่านั้น ที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ มีแนวคิดที่ยืนยันว่า หัวใจของการศึกษาไม่ใช่อยู่ที่การถ่ายทอดข้อมูล แต่อยู่ที่ “ใจกับใจ” ในการเรียนการสอน ครูกระตือรือร้นที่จะสอน นักเรียนก็ใส่ใจกระตือรือร้นที่จะเรียน ในหลักการที่ว่า “ครูรักเด็ก เด็กรักครู เด็กเก่งสอนเด็กช้า และจัดกิจกรรมให้มีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครอง” การเรียนรู้ที่เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด เกิดขึ้นจากคุณภาพครู ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน สอนหนังสือนักเรียนด้วยความรัก และส่งเสริมผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและกิจกรรมของโรงเรียนมากขึ้น มีเคล็ดลับ 6 วิธีที่มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับนักเรียนไทย ดังนี้

1. Growth Mindset พัฒนาให้เด็กมีใจที่อยากจะเรียน เมื่อพบอุปสรรคก็ถือว่า เป็นความท้าทายและโอกาส Mindset จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพของคนเราทุกคน สามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนของประเทศไทยต่อไป

2. ครูสอนคิด (Socratic teaching) ฝึกการตั้งคำถามเช่นเดียวกับโซเครติส มุ่งเน้นการสร้างทักษะและนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการให้เนื้อหาและครูเป็นผู้กำหนด ครูมีหน้าที่หลักคือตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบและร่วมกันอภิปราย โดยมุ่งหวังว่าผู้เรียนจะเกิดความพึงพอใจต่อการคิด คือการถามและการหาคำตอบด้วยตัวเอง มากกว่าการเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก

3. พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กนักเรียน เพียงเอาใจแลกใจ เด็กก็จะเกิดความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่ดีก็จะตามมา

4. พี่ช่วยน้อง ผองเพื่อนช่วยกัน เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับนักเรียนได้ดี ทั้งกับนักเรียนที่เป็นผู้สอนและกับนักเรียนที่เป็นผู้เรียน อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างเด็กอีกด้วย

5. การพัฒนาครูเพื่อการดูแลเด็กพิเศษในเบื้องต้น ครูผู้สอนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และให้การช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กพิเศษสามารถเรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติได้ตามศักยภาพของตน เพื่อให้เด็กทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสังคม

6. การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมให้มาก มีการพบกันอย่างมีความหมายระหว่างโรงเรียน ครู ผู้ปกครองและนักเรียน
 

ขอบคุณที่มา: นสพ. คม ชัด ลึก 10 ก.ย. 2557



ครูพันธุ์แท้

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 6

 "เรารู้ดีว่าเป็นงานที่ยาก มีทั้งวิกฤตและโอกาส แต่เราก็จะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะถือเอาวิกฤตเหล่านั้นหรือปัญหาทุกอย่างเหล่านั้นให้เป็นโอกาส ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคนที่ต้องทำให้ได้ด้วยระยะเวลาที่จำกัด" นายกรัฐมนตรีคนที่ 29

 



ครูทะเล

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 7
คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งๆ ที่ นักวิชาการทั้งหลาย หรือรัฐมนตรีทั้งหลาย หรือดอกเตอร์จากเมืองนอกจากเมืองไทยทั้งหลายจะพยายามทุ่มเทแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเทงบงบประมาณอย่างท่วมท้นก็ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ อาการยังไม่ฟื้น ยังไม่ตอบสนองต่อยาแรงที่ให้ไป การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ให้คนภายนอกโรงเรียนทุ่มเทแก้ไขอย่างไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จได้หรอกครับมีแต่จะทำให้คนภายในโรงเรียนสะบักสะบอมอย่างท่านว่าจริง  ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ที่โรงเรียน ต้องแก้ที่ระบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ด่านแรกของการเปิดประตูเข้าไปสู่โลกของความรู้ สำคัญที่สุดคือครูต้องเตรียมเด็กให้ถูกวิธี


witjung

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 8
ข้อมูลคุณภาพการศึกษาไทย ล่าสุด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก พบว่าคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดย สปป.ลาว ขยับไปแทนที่ในอันดับที่ 6 และทิ้งห่างไทยไปอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก ส่วนคุณภาพของระดับอุดมศึกษา ไทยอยู่ที่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก



หนอนไซเบอร์

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 9
"พวกเราทุกคน ก็คงต้องกล่าวคำว่าคิดถึง และห่วงใย ประชาชนทุกคนเหมือนเดิม เพราะปัญหาทุกอย่างยังแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด บางอย่างแค่ทุเลา บางอย่างอยู่ในขั้นตอน ผมคิดว่า ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป บรรดารัฐมนตรีทุกคน คณะรัฐมนตรีก็จะเริ่มทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะนำแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่เริ่มต้นไว้แล้ว อะไรที่ดีของ คสช. ก็จะทำต่อเนื่อง อะไรที่จะต้องปรับปรุงก็มาปรับปรุงหารือกันใน ครม. และหาทางจัดสรรปรับเปลี่ยนงบประมาณต่าง ๆ ให้เหมาะสม เป็นการคิดร่วมกันของรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ทั้งหมดนั้น ผมเรียนว่านำมาจากพี่น้องทั้งสิ้น นำมาจากปัญหา นำมาจากสิ่งที่ทำให้ประชาชนนั้น ยังมีความเดือดร้อน ยังไม่มีความสุข ยังมีช่องว่างของคุณภาพชีวิตอยู่มากมาย เราจะพยายามค่อย ๆ ทำให้ได้ อย่าคิดว่าเรามาแล้วไม่ทำอะไร หรือทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างที่ผ่านมาในห้วง 4 เดือนนั้น บริหารราชการปกติมาตลอด โดย คสช. ทำงานโดยข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ฟังความคิดเห็นจากประชาชน บางอย่างก็เป็นคำแนะนำมาจากที่ปรึกษา มาจากภายใน ภายนอก ฟังทุกวันถึงทำงานมาได้ถึงวันนี้ เราจะส่งที่ทำวันนั้น ส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ขอให้ทุกคนได้ร่วมกับพวกเราในการคาดหวังที่จะเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ขอบพระคุณนะครับ ขอเวลาให้พวกเราหน่อย ขอบคุณ สวัสดี" คืนความสุขให้คนในชาติ 12 กันยายน 2557


na_na

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 10
โดนใจที่สุดก็คือการสอนแบบโครงานค่ะ Project base ช่วยให้นักเรียนได้บูรณาการความรู้ต่างๆ ที่มีหรือที่ได้เรียนมา มาจัดทำเป็นโครงงานโดยมีครูหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติตามกรอบที่ได้ออกแบบไว้ ให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจ ได้แก้ปัญหา ได้คิดวิเคราะห์ ได้คิดแบบวิพากษ์ ได้ลงมือปฏิบัติ ฯลฯ ให้เรียนรู้ผ่านการทำโครงงานเดี่ยว หรือโครงงานกลุ่ม หรือให้เด็กได้ออกหาประสบการณ์จากการฝึกงาน เพราะฉะนั้นเมื่อผู้เรียนทำโครงงานสำเร็จแล้ว ต้องมีเวทีให้ได้นำเสนอ ครู ต้องสร้างเวที หรือหาโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเสนอโครงงาน แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนและสรุปความคิดร่วมยอดของผู้เรียนที่ได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้มาตลอดหลักสูตร


โคนัน

ตอบกระทู้เมื่อ
17 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 11

คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่องมายาวนาน เกิดจากปัญหาเส้นผมบังภูเขา การพัฒนาบุคคลากรทรัพยาหลักขององค์กรนั่นแหล่ะ ทุกวันนี้ บุคลากรขาดคารวะธรรม ขาดระบบอาวุโส ต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งกันอยู่ให้เห็นแทบทุกองค์กร ระบบอาวุโสของตำรวจ ทหารยังคงถือปฎิบัติอยู่ แต่ศธ.มันล่มสลายไปนานแล้ว ยิ่งถึงเอาคะแนนมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพคนก็อยู่กับความจอมปลอมกันต่อไปเถอะ หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก


k.juy

ตอบกระทู้เมื่อ
18 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 12

กรุงเทพโพลล์ ชี้เยาวชน66.3% เห็นด้วยว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ในยุคตกต่ำ ย่ำแย่

เยาวชน 66.3% เห็นด้วยว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ในยุค ตกต่ำ ย่ำแย่ 70.7 % ยอมรับตัวเองตั้งใจเรียนลดลง ใช้social media และเรื่องอื่นๆ มากไป ทำให้การศึกษาไทยแย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน 77.0% พบพฤติกรรมครูสอนปล่อยเกรด ไม่เข้มงวด ไม่จริงจัง ยก ณเดช ญาญ่า แต้ว เป็นต้นแบบด้านการเรียน

เนื่องในวันที่ 20 กันยายนที่จะถึงนี้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นเยาวชนในหัวข้อ “อะไรทำให้การศึกษาไทยถดถอย ในความคิดเยาวชน” โดยเก็บข้อมูลกับเยาวชนอายุ 15-25 ปี ที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,167 คน พบว่า

กิจกรรมที่เยาวชนทำแต่ละวันในช่วงเวลาว่างหลังจากการเรียน คือ ดูหนัง ฟังเพลง ดูทีวี (ร้อยละ 72.2) รองลงมา เล่นอินเทอร์เนต เช่น facebook,line (ร้อยละ 63.6) และอ่านหนังสือ ร้อยละ 47.1

เมื่อถามเยาวชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากจะกล่าวว่า “การศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ในยุค ตกต่ำ ย่ำแย่” เยาวชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 66.3 เห็นด้วยกับคำกล่าวดังกล่าว (โดยให้เหตุผลว่าครู/อาจารย์มีประสิทธิภาพน้อยลง ระบบการเรียนการสอนทำให้นักเรียนขาดความกระตือรือร้น ติดโลกออนไลน์มากไป ฯลฯ) และมีเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย (โดยให้เหตุผลว่า การเรียนการสอนยังดีอยู่ มีมาตรฐาน ไม่ได้รู้สึกแย่ ฯลฯ) ที่เหลือร้อยละ 26.7 ไม่แน่ใจ

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยอันดับแย่ลงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน (จากข้อมูลของ "World Economic Forum”) เยาวชนร้อยละ 70.7 คิดว่าสาเหตุดังกล่าวเกิดมาจาก ตัวนักเรียนเองที่มีสมาธิ/ความตั้งใจเรียนลดลง เช่น ใช้เวลากับ social media และเรื่องอื่นๆ มากกว่าการเรียน รองลงมาร้อยละ 42.5 คิดว่ามาจากปัญหาการเมืองส่งผลทำให้นโยบายการศึกษาไม่ต่อเนื่อง และร้อยละ 35.6 คิดว่ามาจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เข้มข้น

สำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู อาจารย์ ที่เยาวชนเคยพบเห็น คือ สอนแบบปล่อยเกรด ไม่เข้มงวด ไม่จริงจัง (ร้อยละ 77.0) รองลงมาคือ สอนอย่างไม่มีความพร้อม ไม่เตรียมการเรียนการสอน (ร้อยละ 64.6) และเน้นสอนพิเศษ/เชิญชวนให้เรียนพิเศษ ไม่เน้นสอนในห้องเรียน (ร้อยละ 56.9)

ส่วนดาราที่เยาวชนเห็นว่าเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการเรียน อันดับ 1 คือ ณเดช คูกิมิยะ (ร้อยละ 11.7) อันดับ 2 คือ ญาญ่า อุรัสยาและแต้ว ณฐพร (ร้อยละ 11.4 เท่ากัน)

ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



บัวบก

ตอบกระทู้เมื่อ
19 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 13

ทุกครั้งที่ได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.พูดในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” จะต้องมีการพูดถึงปัญหาและการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ มอบการบ้านให้หน่วยงานโน้น นี้ นั้น ไปคิด ไปทำ ไปแก้ไข  

และทุกครั้งอีกเช่นกันที่ปัญหาการศึกษา แวดวงการศึกษา ปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นมุมหนึ่งของด้านสังคมจิตวิทยาจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง แม้ว่าจะกำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม สุด ท้ายก็ต้องวกมาที่เรื่องการศึกษาซึ่งมีแง่มุมที่น่าเป็นห่วงมากมาย เรียกว่า ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ต้องแวะเวียนเข้ามาถึงเรื่องการศึกษาจนได้ เพราะฉะนั้นแทบจะไม่มีครั้งไหนเลยที่จะไม่มีปัญหาด้านการศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย ที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ความสำคัญกับเด็ก-เยาวชน และเรื่องการศึกษาของประเทศอย่างมาก

คนไทยทั้งหลายต่างก็ฝากความหวังไว้ว่า จะมีรัฐบาลที่มุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในวงการศึกษา มากกว่ารักษาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง เมื่อได้ฟังสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงเรื่องของการศึกษาครั้งใดก็ทำให้มีความหวังทุกครั้ง เพราะพูดได้เหมือนมีข้อมูลอย่างรู้ลึก รู้จริง และเหมือนจะรู้ด้วยว่าทุกหน่วยงานก็รู้ดีแต่ไม่จัดการหรือจัดการไม่ได้

การปฏิรูปการศึกษา เป็น หนึ่งในสิบเอ็ดด้านที่จะต้องถูกปฏิรูปโดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรรหาสมาชิก สปช. โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษาเป็นกรรมการสรรหา ประกอบด้วย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ คุณหญิงกษมา วรวรรณ  ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายสมชอบ ไชยเวช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการอุดม ศึกษาและสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ

ประเด็น คือ ใครจะเข้าตากรรมการได้เข้ามาเป็น สมาชิก สปช.ด้านการศึกษา เพราะข่าวว่ามีผู้สนใจสมัครรับการสรรหาเป็น สมาชิก สปช.ด้านนี้มากที่สุด ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีคนเห็นปัญหาและเสนอตัว เสนอตน เข้าร่วมวงปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้การศึกษาของชาติเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร

ประเด็น คือ อะไรคือประเด็นการศึกษาที่ต้องทำใหม่ให้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติ เป็น Education for All ไหนจะต้องปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปครู ปฏิรูปผู้เรียน ปฏิรูประบบ แล้วจะทำกันอย่างไร แต่ก็ยังดีที่ว่า รัฐบาล “ตู่ 1” นี้ มีระดับบิ๊กนายทหารมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคุมงานด้านการศึกษาถึง 2 นาย นั่น คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่มานั่งว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยไม่ควบรองนายกรัฐมนตรีตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ และ พล.ท. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และยังได้นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามานั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อีกคน ย่อมเป็นความหวังว่าความเป็นทหาร ที่ทำอะไรก็รวดเร็ว มีวินัย เฉียบขาดจะทำให้การศึกษาดีขึ้นได้

แล้วก็ต้องไม่ลืมจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังด้วย อะไรที่ค้างคาอยู่ก็ควรต้องเคลียร์อย่าปล่อยให้มันจางหาย อย่าคิดว่า “เดี๋ยวก็ลืม” ตามนิสัยคนไทย เพราะจะทำให้คิดได้ว่าไม่มีใครเอาจริง...ระวังจะตกม้าตาย.

เข็มทิศ : เดลินิวส์ออนไลน์



Tanaew

ตอบกระทู้เมื่อ
19 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 14
ผู้มีอำนาจคิดอย่างไรกับความเห็นนะ อย่างรู้อยากเห็นจริงเลย
   "การศึกษาขั้นพื้นฐานคือฐานรากที่จะรองรับการศึกษาระดับสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ คุณภาพ การศึกษาไทยที่ตกต่ำแล้วตกต่ำอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการศึกษาที่ผิดพลาดในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนสมัยเป็นเด็กมัธยมศึกษาเรียนอยู่บ้านนอกต่างจังหวัด ผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาก Top ten ของโรงเรียน แต่พอสอบแข่งขันเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ เทอมแรกที่ตั้งใจว่าจะทำเกรดให้สูงครองอันดับต้นๆ ให้ได้ แต่พอผลการเรียนเทอมแรกออกมาตกลงไปอยู่ในระดับบ๋วยสุดของชั้น ตกใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าตนเองเรียนแย่ขนาดนั้น หรือโง่ขนาดนั้น ต้องใช้เวลาปรับตัวเองปรับฐานการเรียนรู้ใหม่ถึงสองปีจึงดึงคะแนนกลับขึ้นมาอยู่ในระดับทันเพื่อนได้
   เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพื้นฐานการเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเดิมมา ยังไม่แกร่งพอเหมือนกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ ผู้เขียนยังมั่นใจว่าตนเองไม่ได้โง่ แต่วิธีการเรียนในโรงเรียนบ้านนอกสู้โรงเรียนในเมืองใหญ่ไม่ได้ หรือไม่ดีพอเท่านั้นเอง"


kanok

ตอบกระทู้เมื่อ
20 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 15

ท่านผู้มีอำนาจหลายคนมาจากโรงเรียนบ้านนอก ท่านเข้าใจสถานการณ์ดี กำลังหาวิธีระดมสมองกันอยู่  แต่ท่านผู้นำสูงสุดที่มาจากรอบนอกเหมือนกันย้ายโรงเรียนบ่อยๆ ท่านก็ระดับการเรียนดีมาตลอด อยู่ที่วิธีการเรียนของผู้เรียนม้าง



un-un

ตอบกระทู้เมื่อ
20 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 16
ตามงานศธ.กันค่ะ ใครจะทำอะไรยังไง
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในคำสั่ง ศธ.ที่ 885/2557 เรื่องมอบอำนาจให้ รมช.ศึกษาธิการ สั่งและปฎิบัติราชการแทน ดังนี้ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ดูแล สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.)  สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (มวส.)   และมหาวิทยาลัยในกำกับ  นอกจากนี้ให้บริหารราชการเกี่ยวกับภารกิจ หลักสูตรการเรียนการสอน ,  การผลิต พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา , การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  และการวัดผลและประเมินผลการศึกษา , ตอบกระทู้ถามชี้แจงญัตติ ที่เกี่ยวกับรัฐสภา ในงานที่ได้รับมอบหมาย และงานอื่นๆที่ รมว.ศธ.มอบหมาย

   รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  ส่วน พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์  ดูแล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.)   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) งานเกี่ยวกับงานคดีของ ศธ. งานเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ อาทิ  แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด ,การวินิจฉัยสั่งการ และการบริหารราชการเกี่ยวกับภารกิจ , การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน , การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ,ตอบกระทู้ถามชี้แจงญัตติ ที่เกี่ยวกับรัฐสภา ในงานที่ได้รับมอบหมาย และงานอื่นๆที่ รมว.ศธ.มอบหมาย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.เป็นต้นไป

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับตนจะดูแลงานสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) และภารกิจอื่น คือ  การปฎิรูปการศึกษา , การพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการ  และเงินอุดหนุนรายหัว



SEAWRITE

ตอบกระทู้เมื่อ
25 ก.ย. 2557
  ความคิดเห็นที่ 17
 
คนบางคนยืนเด่นโดยท้าทาย


สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเว็บบอร์ด คลิกที่นี่ /  เข้าสู่ระบบ


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved