Neric-Club.Com
|
|
 |
นิตยสารออนไลน์
|
|
 |
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
 |
|
|
|
|
จุดยืนพุทธศาสนิกชนในพม่า ท่ามกลางสงครามและการปฏิวัติ |
 |
 |
การชุมนุมประท้วงของพระสงฆ์ในพม่าที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ อาจจะไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจของพุทธศาสนิกชนไทยเท่าไหร่
แต่ถ้าว่าไปตามประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของพม่า ก็ต้องยอมรับกันแล้วว่า ถ้าพระสงฆ์ไม่ถือธงนำทางทวงสิทธิต่างๆ ที่ถูกต่างชาติยึดไปยํ่ายี เมื่อครั้งที่อังกฤษเข้ามาครอบครองนั้น (พ.ศ.2428) ชาวพม่าจะอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร
ลองคิดดูก็แล้วกันว่า ตอนที่อังกฤษเข้ามาปกครองนั้น สถาบันกษัตริย์ที่อยู่คู่กับชาวพม่ามานาน และเคยอุปถัมภ์ค้ำจุนวัดวาอารามและคณะสงฆ์ - ถูกยํ่ายี อังกฤษก็ถือว่าตนให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเต็มที่ ไม่สนใจไยดีต่อองค์การทางศาสนา
แม้กระทั่งตำแหน่งพระสังฆราชที่ว่างลงไปในเวลาต่อมา อังกฤษก็หาได้ใส่ใจแต่งตั้งพระเถระรูปใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนไม่ จนทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและเกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์
สภาพการณ์เช่นนี้ แน่นอน...! ย่อมทำให้พระสงฆ์เกิดความไม่พอใจ ที่อังกฤษเป็นเหตุทำให้การพระศาสนาในประเทศของตนตกต่ำ จึงได้นำประชาชนประท้วงและชักชวนให้ชาวพม่าหันมาปฏิบัติศาสนกิจ ศาสนพิธี และประเพณีดั้งเดิมของตนอย่างเคร่งครัด พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมที่อังกฤษปกครองในเวลานั้น
และเรียกร้องให้อังกฤษหันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนต้องพากันออกมาอดอาหารประท้วงครั้งใหญ่ ทำให้พระสงฆ์รูปหนึ่งถึงกับต้องมรณภาพไปก็มี
ผลจากการประท้วงอังกฤษของพระสงฆ์ในเวลานั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวพม่าและนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งพระและฆราวาสจึงหันมาจับมือกัน ก่อตั้ง "สมาคมชาวพุทธหนุ่ม" หรือสมาคมยุวพุทธิกะขึ้นมาในปี พ.ศ.2447 และต่อมา สมาคมแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการชาตินิยมในพม่า เคลื่อนไหวในประเด็นศาสนาและวัฒนธรรมในครั้งต่อๆ มา
โดยเฉพาะยิ่งประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้น เมื่ออังกฤษไม่ได้ดำเนินตามนโยบายที่ตนประกาศไว้ แต่กลับไปสนับสนุนโรงเรียนคริสต์มาตั้งแต่ต้น สมาคมชาวพุทธหนุ่มจึงรวมตัวกัน เรียกร้องให้อังกฤษสนับสนุนการเงินต่อกิจกรรมและการศึกษาพุทธศาสนาของตนบ้างและเรียกร้องไม่ให้ฝรั่งสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณวัดวาอารามอันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของตน (พ.ศ.2461)
ผลจากการประท้วงในครั้งนั้น อังกฤษจำต้องปฏิบัติตามที่สมาคมชาวพุทธหนุ่มเรียกร้องต้องการ จนทำให้พระสงฆ์ นักศึกษา และประชาชนในพม่าตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง หันมาสนใจปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศกันมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับคอยจับตาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอินเดียเวลานั้น ซึ่งมีข่าวว่าอังกฤษตกลงในหลักการ ที่จะให้อินเดียสามารถปกครองตนเองได้ แต่ว่ายังไม่ให้สิทธิแก่ชาวพม่า เนื่องจากอังกฤษเห็นว่า ชาวพม่ายังไม่มีการศึกษาและความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้
ต่อเมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป การประท้วงในพม่าก็แพร่หลายตามไปด้วย โรงเรียนและวิทยาลัยต่างๆ ในพม่าพากันหยุดเรียน สมาคมชาวพุทธหนุ่มซึ่งก่อตั้งมาได้กว่า 2 ปีก็มิอันต้องประกาศยุบตัวเองไป แล้วตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่ (พ.ศ.2463) เพื่อที่จะขยายแนวร่วมออกไป โดยมีความมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองเป็นที่ตั้ง ซึ่งนั่นก็หมายรวมพระสงฆ์อยู่ด้วย
การยุบสมาคมชาวพุทธหนุ่มและตั้งสมาคมใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะขยายแนวร่วมและปฏิบัติทางการเมืองในเวลานั้น แน่นอน...! ย่อมทำให้พระสงฆ์ต้องเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย ในด้านพุทธธรรมก็จำต้องตีความใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น
รวมไปถึงพุทธประเพณีที่ว่าด้วยการ "คว่ำบาตร" ก็ถูกนำมาใช้ต่อต้านอังกฤษด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการชาตินิยมของพระสงฆ์ในเวลานั้น แม้คำว่า "ชาวพุทธหนุ่ม" จะหายไปเป็นเนื้อเดียวกันกับทะเลธารอันกว้างใหญ่ แต่จุดยืนของเขาก็ไม่ได้หายไปไหน ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นพลังกระตุ้นขบวนการชาตินิยมรุนแรงขึ้นในกาลต่อมา เพื่อที่จะกอบกู้เอกราชและอธิปไตยให้กลับคืนมาให้ได้
"สมาคมชาวเราพม่า" (พ.ศ.2479) ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตผู้นำแบบใหม่อย่างอูนุ อองซาน และอีกหลายๆ ท่าน ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมาจนกระทั่งพม่าได้รับเอกราช (พ.ศ.2491) และเข้าไปมีบทบาททางการเมืองระดับสูง แต่ก็เป็นไปลุ่มๆ ดอนๆ จนต้องถูกทหารทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2505 นั้น ส่วนหนึ่งก็ล้วนแต่มีแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ทั้งสิ้น
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมของพระสงฆ์ ซึ่งก็ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ หลังจากที่พม่าได้เอกราชและอธิปไตยกลับมา พระสงฆ์ก็หาได้ถอยห่างไปจากการเมืองไม่
ในทางตรงกันข้าม เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายที่มีผลกระทบต่อศาสนาและวัฒนธรรมของชาวพม่าพระสงฆ์ก็จะสำแดงพลังเป็นระยะๆ
มาจนกระทั่งในปี พ.ศ.2531 หรือ 19 ปีที่ผ่านมา เมื่อนักศึกษาและประชาชนประท้วงใหญ่ พระสงฆ์ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารด้วยเช่นกัน
เพราะเหตุดังนั้น ทุกครั้งที่มีการประท้วงในพม่าเราก็จะเห็นพระสงฆ์เป็นแกนนำ หรือไม่ก็จะร่วมอยู่ในขบวนประท้วงแทบทุกครั้ง นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมชาวพุทธหนุ่มขึ้นมา รวมเวลา 100 กว่าปี
ขบวนการชาตินิยมของพระสงฆ์ในพม่าแม้ว่าจะผลัดใบมาหลายรุ่น แต่ก็ยังคุกรุ่นไปด้วยอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่หลั่งไหลต่อๆ กันมาไม่ขาดสาย จนกว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความยุติธรรมจะกลับคืนมาในพม่าอย่างถาวร
หาไม่แล้วเราคงจะได้เห็นขบวนการพระสงฆ์ในพม่าออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้อีก
|
|
|
|