Neric-Club.Com
  สารบัญเว็บไซต์
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14032084  

ตามใจไปค้นฝัน

วิถีชีวิตชาวภูฏาน จารีตประเพณีความเชื่อ ศิลปะวัฒนธรรมของภูฏาน

• กุสุซัมโปดรุกยุล กุสุซัมโป แปลว่า สวัสดี ดรุกยุล คือ ภูฏาน กุสุซัมโปดรุกยุล “สวัสดีภูฏาน”..
• ด้วยเหตุที่ชาวภูฏานต่างมีวิถีชีวิตที่ยึดมั่นในพุทธตันตระ-วัชรยาน วิถีชีวิตประจำวันของชาวภูฏานจึงมีศาสนานำทาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ชาวภูฏานยังไม่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้า และส่วนมากยังมีฐานะยากจน กระแสบริโภคนิยมจึงยังคืบคลานไปไม่ถึง โดยเฉพาะในชนบท แทบทุกคนทั้งชาย-หญิงในภูฏานล้วนมีสันติสุขและรักสันโดษ มีความสุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน มีจิตใจโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตรต่อผู้คนที่มาเยือนภูฏาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งของภูฏาน
• การกราบไหว้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวของชาวภูฏาน
• การไหว้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัวของชาวภูฏานเป็นเอกลัษณ์ที่เด่นชัดของชาวภูฏาน ซึ่งการกราบไหว้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวภูฏานมาเนิ่นนานแล้ว เพราะว่าประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ว่านิกายใด มักจะมีวัฒนธรรมการกราบไหว้ติดมาเป็นมรดกจากอินเดีย หากแต่การกราบไหว้ในแต่ละประเทศอาจจะมีลักษณะท่าทีที่แตกต่างกันออกไป
• การไหว้ผู้ใหญ่ของชาวภูฏานจะมีลักษณะนอบน้อมถ่อมตนจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติไม่แพ้การไหว้ของไทย แต่การไหว้พระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับทิเบต คือ การไหว้ในแบบน้อมกายแตะพื้นถึงครึ่งตัว หรือแตะพื้น 7 จุด คือ เท้า เข่า มือ และหน้าผาก
• โชร์เต็นและมณฑล
• โชร์เต็น (สถูปเจดีย์) ในเขตหิมาลัยนับถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธ โชร์เต็นจึงมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวภูฏานจะทำทักษิณาวรรต (การเดินเวียนขวา) รอบโชร์เต็นเพื่อแสดงออกซึ่งศรัทธาปสาทะ และเพื่อสร้างสมบุญกุศกลให้กับตนเอง
• ตำนานทางพุทธศาสนาระบุว่า การสร้างสถูปเจดีย์มีขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดียและสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งกษัตริย์จากแว่นแคว้นต่างๆ ได้รับแบ่งสรรปันส่วนไปหลังงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นลง สถูปเจดีย์จึงได้กลายมาเป็นสถานที่แห่งการสักการะบูชานับจากนั้นเป็นต้นมา
• จนทุกวันนี้การสร้างโชร์เต็นในเขตหิมาลัยก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป จุดประสงค์ในการสร้างนั้นบ้างสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระอริยบุคคลท่านสำคัญ สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย หรือไม่ก็สร้างขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณภูติผีปิศาจไม่ให้ออกมารังควานชาวบ้าน
• โชร์เต็นในภูฏานมีองค์ประกอบทั้งหมด 5 ส่วน เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้งห้า ได้แก่ ฐานแทนธาตุดิน องค์ระฆังแทนธาตุน้ำ ฉัตร 13 ชั้นแทนธาตุไฟ พระอาทิตย์กับพระจันทร์แทนธาตุลม (ชาวภูฏานเชื่อกันว่า เป็นธาตุที่ห่อหุ้มจักรวาลเบื้อบนเอาไว้) นอกจากนี้ ฉัตรทั้ง 13 ชั้น ยังหมายถึงขั้นตอนสำคัญทั้ง 13 ขั้นที่มนุษย์เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน
• โชร์เต็นส่วนใหญ่เป็นลักษณะปิดทึบ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็มีบ้างบางองค์ที่สร้างเป็นซุ้มประตูหรือวิหารอยู่ข้างใน (เช่นโชร์เต็นที่วัดดุงเซในพาโร และโชร์เต็นอนุสรณ์ในทิมพู) ในภูฏานมีโชร์เต็นอยู่สามแบบคือ แบบเนปาล แบบทิเบต และแบบภูฏาน
• การสร้างโชร์เต็นมีพิธีกรรมและพิธีการต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย แต่พิธีที่สำคัญที่สุดคือพิธีการบรรจุ "ต้นไม้แห่งชีวิต" (แกนไม้จารึกบทสวดมนต์) พระพุทธรูป คัมภีร์และสมบัติทางศาสนาเอาไว้ภายในพระเจดีย์ ก่อนจัดพิธีสมโภชพระเจดีย์ขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย การขุดกรุทำลายพระเจดีย์ถือเป็นความผิดบาปขั้นร้ายแรง
• มณฑล (ภาษาซงคา เรียกว่า คิลคน) มณฑล คือ แบบจำลองแผนภูมิจักรวาลอันลี้ลับ มีเทพผู้เป็นใหญ่ประทับอยู่ ณ ใจกลางมณฑล ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการเพ่งมณฑลมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพองค์นั้น เทพแต่ละองค์จะมีมณฑลของตนเองซึ่งแตกต่างจากมณฑลของเทพองค์อื่น และมีพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูปเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการวาดหรือสร้างมณฑลขึ้นโดยเฉพาะ
• มณฑลที่พบเห็นบ่อยที่สุดเป็นภาพสองมิติวาดอยู่บนผ้าฝ้าย ประกอบด้วยวงกลมและสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ใช้ผงสีต่างๆ โรยให้เป็นภาพเพื่อใช้ในพิธีสำคัญบางอย่าง มณฑลสามมิติก็มีเช่นกัน ส่วนใหญ่จะหล่อขึ้นจากทองแดงชุบทอง แล้วนำมาติดไว้กับแท่นบูชา
• หมุน “กงล้อมนตรา” ทุกวันทุกแห่งหน
• วิถีชีวิตประจำวันของชาวภูฏาน แทบทุกคนในภูฏานล้วนต้องทำพิธีกรรมทางตันตระ-วัชระ ตั้งแต่เช้าก่อนออกจากบ้าน ระหว่างทางเดิน จนถึงที่ทำงาน แม้ตอนเดินทางกลับบ้าน และบางคนกระทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้งเวลายืนนั่งนอน ด้วยการท่องมนต์ ทำสมาธิ นับลูกประคำและแกว่งหรือ หมุน “กงล้อมนตรา”
• กงล้อมนตรา มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สร้างขึ้นรายล้อมด้วยวัดหรือเจดีย์ รวมทั้งช่องทางเดิน กลางหุบเขาและในแม่น้ำลำธาร โดยกระแสน้ำจะหมุนกงล้อมนตราแทนผู้คนที่เดินผ่าน ตลอดจนถึงกล่องเล็กขนาดมือถือสำหรับสั่นภายในบริเวณบ้านหรือในที่อื่นๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาวภูฏาน
• ลักษณะของกงล้อมนตราเป็นแท่นกลมขนาดต่างๆ มีกระดาษมนตราหลายพันบทพับม้วนอยู่ข้างใน มีแกนกลางด้านล่างหมุนได้โดยรอบ ผู้คนจะเข้ามาสักการะ เดินทักษิณาวรรต ใช้มือหมุนกงล้อมนตราทุกกงล้อที่ปรากฎอยู่จนเป็นที่พอใจ นั่นเสมือนว่าได้สวดมนตราหลายพันบทและหลายพันครั้ง ขณะที่หมุนกงล้อจะท่องมนต์ว่า “โอม มณี ปัทเม หุม” มีความหมายว่า “ขออัญเชิญพระธรรมอันล้ำค่าดุจมณีมาสถิตในหัวใจอันบริสุทธิ์ดั่งดอกบัวของเรา”
 
ศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของภูฏาน
• ศิลปะภูฏานได้รับอิทธิพลจากทิเบตมานานนับร้อยๆ ปี เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ในเขตหิมาลัย แต่ความแตกต่างในเชิงนิเวศ เศรษฐกิจและสังคม ก็ทำให้ศิลปะของภูฏานเป็นเอกลักษณ์ ศิลปะภูฏานมีลักษณะเด่น 3 ประการคือ
1. ไม่ปรากฎชื่อศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน
2. ศิลปะเป็นงานศาสนาศิลป์
3. ความงามในศิลปะเชิงสุนทรีไม่ใช่เป้าหมายหลัก เช่นชาวภูฏานถือว่าภาพวาดกับรูปปั้นเป็นงานทางศาสนาไม่ใช่งานศิลปะ
• ด้านศิลปะของภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นภาษาและวรรณคดี หรืองานศิลปะประเภทต่างๆ ของภูฏาน เช่น งานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม และภาพจิตรกรรมต่างๆ ที่เป็นภาพเขียนสีหรือผ้าปัก ล้วนเป็นภาพพุทธประวัติและภาพพุทธศิลป์ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นภาพขนาดใหญ่ ทำด้วยผ้า ที่เรียกว่า ทังกา (เหมือนทังก้าของทิเบต) ทังกาเป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดและสะท้อนคำสอนในพระพุทธศาสนา ภาพที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ และภาพปริศนาธรรม พระลามะผู้เขียนภาพเองก็ไม่ได้ยึดติดกับความเป็นเจ้าของภาพแต่อย่างใด ไม่มีการลงชื่อไว้ในภาพเลย เพราะถือว่า การเขียนภาพเผยแพร่ธรรมะเป็นการปฏิบัติธรรม แม้ว่าภาพเขียนเก่าแก่บางแห่งจะสวยงามเป็นที่เลื่องลือมากก็ตาม
• อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ได้มีการจัดตั้งสตูดิโอศิลปินอาสาสมัคร (VAST) ขึ้นเพื่อสอนศิลปะแบบตะวันตกให้กับเด็กๆ รวมทั้งเพื่อใช้ศิลปะเป็นตัวกลางสื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน (www.vast-bhutan.org0
• จิตรกรรมภูฏาน
• งานจิตรกรรมของภูฏานแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ การเขียนลายประดับรูปประติมากรรม การเขียนภาพจิตกรรมฝาผนัง และการเขียนภาพระบฎ หรือ ทังกา
1.การเขียนลายประดับรูปประติมากรรมดินเหนียว จะเขียนลายลงสีทั่วทั้งองค์ ในขณะที่รูปประติมากรรมโลหะ จะลงลายเฉพาะในส่วนพระพักตร์ โดยวาดพระขนงหรือพระมัสสุเส้นบางๆ ไว้ และตวัดปลายให้เฉียงขึ้นเล็กน้อย
2.การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภูฏาน จะเริ่มต้นด้วยการนำดินมาฉาบผนังไว้ชั้นหนึ่ง ปล่อยให้แห้งแล้วขัดผิวให้เรียบ จากนั้นจึงเขียนลายและลงสี เทคนิคที่แพร่หลายในภูฏานคือ ช่างจะเขียนภาพลงบนผืนผ้าให้เสร็จเรียบร้อยก่อนนำไปติดผนัง ผ้าที่ใช้เป็นผ้าชั้นดีเนื้อเรียบ ช่างจะฉาบติดทับผนัง แล้วนำผ้ามาบรรจงติดให้เป็นเนื้อเดียวกันที่มองไม่ออก จากนั้นช่างจะใช้แป้งเปียกชนิดหนึ่ง (ใช้แป้งผสมกับพริกไทยป่น) ฉาบทับเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมากินผ้า
3.การเขียนภาพพระบฎ หรือ ทังกา ที่ภูฏานมีภาพพระบฎอยู่ตามวัดหรือซองอยู่เป็นจำนวนมาก ภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาออกแสดงให้ชมกันตลอดเวลา แต่จะม้วนเก็บรักษาเอาไว้ในหีบและจะนำออกมาแขวนให้ผู้คนได้สักการะบูชากันเฉพาะในช่วงเทศกาล
• เทคนิคการวาดภาพทังกา หรือพระบฏ จะเริ่มจาก การนำผ้าฝ้ายไปชุบน้ำพอหมาดๆ แล้วนำไปขึงให้ตึงกับกรอบไม้หรือกรอบไม้ไผ่ ผสมปูนขาวกับกาวให้เข้ากัน แล้วนำมาทาผ้าให้ทั่วแล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นขัดผิวให้เรียบ แล้วขีดเส้นตีตารางเอาไว้ช่วยจัดองค์ประกอบของภาพ บางครั้งช่างจะนำแม่พิมพ์ไม้ซึ่งแกะสลักภาพเอาไว้เรียบร้อยแล้วมาพิมพ์ลงบนผ้าเลย หรือไม่ก็ใช้การพิมพ์ภาพลายฉลุแทน ซึ่งช่างจะนำกระดาษซึ่งฉลุลายเอาไว้แล้วมาทาบกับผ้า ใช้ถ่านขีดไล่ไปตามรอยฉลุ ภาพร่างก็จะปรากฎขึ้นบนผ้า พร้อมให้ลงสีได้เลย
• แม้ภาพทังกาหรือภาพพระบฏส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยสีสันอัดหลากหลายอยู่แล้ว แต่บางภาพยังมี การลงสีทองเอาไว้เป็นพื้นหลังแล้วตัดเส้นด้วยสีแดงและดำ ถ้าเป็นภาพเทพเจ้าภาคดุร้ายจะใช้สีดำเป็นสีพื้นแล้วใช้สีแดงและสีทองตัดเส้นแทน เมื่อวาดภาพเสร็จเรียบร้อย ช่างจะนำผ้าต่วนหลากสีมาติดเป็นขอบ แต่ละสีมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ สุดท้าย ช่างจะนำไม้สองท่อนมาติดไว้กับขอบด้านบน และล่างเพื่อใช้เป็นที่แขวน
• การทำภาพทังกา ยังมีเทคนิคสำคัญอีกสองอย่างซึ่งไม่เกี่ยวกับการเขียนภาพเลย นั่นคือ เทคนิคการปักและเทคนิการทำอัปปลิเก เทคนิคหลังนี้จะนำมาใช้กับการทำภาพทังกาผื่นใหญ่สำหรับใช้แขวนนอกกำแพงซองในช่วงงานเทศกาลทางศาสนา
• ประติมากรรมภูฏาน
• ภูฏานนิยมแกะสลักอักษรไว้บนกำแพงหินหรือบนหน้าผา บนแผ่นหินมักปรากฎภาพเทพเจ้าและบุคคลในศาสนาจำหลักเอาไว้อย่างวิจิตรบรรจง ภาพจำหลักที่งามที่สุดจะพบอยู่ที่ป้อมซิมโตคา แต่ละภาพมีจารึกคำบรรยายบอกเล่าว่าเป็นเทพองค์ใด จึงถือเป็นขุมคลังความรู้อันประมาณค่ามิได้ในการศึกษาลักษณะทางประติมาณิวทยาของเหล่าเทพเจ้าของชาวภูฏาน
• รูปประติมากรรมดินเหนียวนั้น มีให้พบเห็นได้ทั่วไปในภูฏานและจะลงสีไว้ทั้งองค์ มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่พกพาติดตัวไปได้ จนถึงขนาดใหญ่ความสูง 2-3 เมตร ขั้นตอนจะเริ่มจากการจารึกบทสวดมนต์เอาไว้บนแกนไม้ นำผ้ามาพันทบไว้หลายๆ ชั้น แล้วนำดินเหนียวมาพอกปิดให้มิด แกนไม้นี้ เรียกว่า สกชิง (ต้นไม้แห่งชีวิต นิยมบรรจุไว้ในรูปประติมากรรมดินเหนียว สถูปและรูปหล่อโลหะ) ช่างจะนำแกนไม้กับแผ่นป้ายจารึกคำปฏิญาณที่ทำขึ้นจากดินเหนียวผสมเถ้าอัฐิของผู้ตาย ไปบรรจุไว้ในตำแหน่งที่ถือกันว่าศักดิ์ิสิทธิ์ จากนั้นนำไปขึ้นรูป ปั้นแต่งให้เรียบร้อย แล้วจึงลงสีหรือไม่ก็ทาสีขาวทับทั้งองค์
• สถาปัตยกรรมภูฏาน
• ภูฏานมีสถาปัตยกรรมหลายประเภท ได้แก่ ซอร์เตน (สถูปเจดีย์) ฮาคัง (วัด) กมปา (อาราม) ซอง (ป้อม) ไปจนถึงบ้านเรือนแบบภูฏาน ซึ่งประกอบกันเป็นภูมิทัศน์อันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน
• ซอร์เตน (สถูปเจดีย์) ถือเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงลามะชั้นสูง หรือเพื่อขับไล่ภูติผีปิศาจร้ายให้ออกไปให้พ้นจากสถานที่ซึ่งถือกันว่าเป็นจุดอันตราย เช่น สี่แยก สะพานและช่องเขา เป็นต้น สถูปเจดีย์ของภูฏานมีทั้งหมด 3 แบบ คือ 1) สถูปาศิลาองค์ใหญ่ที่สร้างตามแบบสถูปโพธินาถในเปาลทาสีขาวทั้งองค์ 2) สถูปศิลาที่สร้างตามแบบทิเบต มีขนาดย่อมลงมา โดยมากจะพบในภาคกลางและภาคตะวันออก และมักปลูกเป็นโรงเรือนไม้คลุมไว้ และ 3) สถูปเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยา มีหลังคาลาดลงมาสี่ด้าน ส่วนบนของผนังทั้งสี่ด้านช่วงที่อยู่ถัดจากหลังคาลงมาจะทาสีแดงเป็นแถบคาดเอาไว้ เจดีย์ทรงนี้จะพบอยู่มากในภาคตะวันตกของภูฏานและภาคตะวันออกของทิเบต
• ซอร์เตน หรือสถูปเจดีย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากรูปประติมากรรม ภายในมี ต้นไม้แห่งชีวิต พระพุทธรูป พระสูตร สมุนไพรไม้หอม และอาวุธบรรจุไว้ ระหว่างสถูปสององค์อาจมีกำแพงหินเชื่อมถึงกัน เรียกว่า "กำแพงมานี" ชื่อกำแพงนั้น ตั้งตามชื่อมนต์ซึ่งพบจารึกอยู่บนหินบ่อยที่สุด เป็นมนต์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่มนต์ของพระโพธิสัตว์วัชรปราณีกับพระมัญชุศรีก็พบได้ค่อนข้างบ่อยในกำแพงนี้เช่นกัน
• ลาคัง (วัด) ลาคังนั้น ถ้าตั้งอยู่เดี่ยวๆ จะหมายถึงวัด แต่ถ้าเป็นส่วนประกอบของอารามขนาดใหญ่ (กมปา) จะมีฐานะเป็นวิหาร หอพระ หรือ หอบูชา ฮาคังในภูฏานเป็นหมู่อาคารเล็กแบบเรียบๆ โดยมากเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างล้อมลานปิดขนาดเล็ก ต่างจากบ้านเรือทั่วไปตรงที่มีการทาสีแดงเป็นแถบคาดเอาไว้ตรงส่วนยอดของผนังทั้งสี่ด้าน หลังคาหุ้มด้วยแผ่นทองแดง ข้างในจะวาดภาพประดับฝาผนังเอาไว้ทุกด้าน บางครั้งจะมีหมู่เสาแบ่งโถงชั้นนอกออกจากห้องบูชาชั้นใน หมู่อาคารดังกล่าว อาจถือเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมทางศาสนา บางแห่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ฮาคังแต่ละแห่งจะมีผู้ดูแลอยู่ประจำ ถ้าเป็นวัดประจำตระกูล ผู้ดูแลอาจเป็นสมาชิกในตระกูลนั้น ๆ แต่หากเป็นวัดหลวง ทางองค์กรสงฆ์ส่วนกลางจะจัดส่งผู้ดูแลในสังกัดมาประจำอยู่วัดนั้นๆ
• กมปา (อารามขนาดใหญ่) กมปาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อารามหมู่และอารามป้อม
1.กมปาแบบหมู่ มีอายุเก่าแก่กว่าแบบป้อม โดยมีวิหารหนึ่งหรือสองหลังเป็นแกนกลางและมีหมู่อาคารอื่นๆ แวดล้อมเป็นบริวารอยู่โดยรอบ ตัวอย่างของกมปาประเภทนี้ เช่น ซงดรากมปาคาในพาโร พะโจดิงกมปาในทิมพู และทาปาลิงกมปาในบุมทัง
2.กมปาแบบป้อม มีรูปลักษณ์คล้ายป้อม ตรงกลางเป็นหอสูง แวดล้อมด้วยหมู่วิหารหลังเล็กๆ มีกำแพงโอบล้อมอยู่รอบนอก กุฏิสงฆ์กับห้องปฏิบัติศาสนกิจจะสร้างอิงติดกำแพง กมปาแบบป้อมที่งามที่สุดนั้นมีอยู่หลายแห่ง ได้แก่ กังเตกมปาละแวกช่องเขาเปเลลา ตังโกกมปาในเขตทิมพูตอนบน ดราเมซีกมปาในภาคตะวันออก
• ซอง (ป้อม) ชาวภูฏานเรียกป้อมว่า ซอง และสร้างไว้ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซองเป็นทั้งที่ตั้งของหน่วยงานราชการประจำเขตนั้นๆ ที่ตั้งของสงฆ์นิกายดรุ๊กปะ ซองของภูฏานได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่งามที่สุดในเอเวีย ด้วยกำแพงอันแข็งแกร่งแน่นหนา งานเครื่องไม้อันละเอียดประณีตและหลังคาโปร่งลาดอันเป็นเอกลักษณ์
• โดยปกติแผนผังของซองจะประกอบไปด้วยหอกลาง ตรงกึ่งกลางลาน มีห้องสำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์กับกองงานการปกครองที่สร้างอิงติดกับกำแพงแวดล้อมอยู่โดยรอบ มีลานแยกเป็นสองแห่ง เชื่อมต่อกันได้โดยผ่านทางหอกลาง ลานแห่งนี้มีอาคารกรมการปกครองปิดล้อม มีหมู่วิหารและอาคารของสถานขององค์กรสงฆ์เรียงราย เช่น ปูนาคาซอง วังดีโปรดังซอง ทิมพูซอง
• สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน สถาปัตยกรรมภูฏานมีไม้เป็นองค์ประกอบค่อนข้างมาก หน้าต่างแบบภูฏานมีเอกลักษณ์อยู่ที่กรอบและขื่นบนซึ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนาแฝงอยู่ในทุกส่วน ซอง ตำหนัก ฮาคังและกมปาที่สำคัญทุกแห่ง จะสร้างด้วยศิลา ส่วนบ้านเรือราษฎรจะใช้วัสดุต่างกันไปตามแต่จะมีในแต่ละท้องที่ บ้านเรือนในชนบทของภูฏานมีลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น เป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนึ่งหรือสองชั้น นิยมทาสีและเขียนลวดลายประดับอย่างสวยงาม เครื่องเรือนจะเป็นของที่ทำขึ้นแบบง่าย ๆ ตัวบ้านจะหันออกหาลานกว้าง นิยมทาสีขาวทั้งหลังแล้ววาดลวดลายที่เป็นมงคลประดับเอาไว้ ด้วยสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงามรับกันทุกด้านทำให้บ้านเรือนในภูฏานเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่ดูน่ารักสวยงามเป็นเอกลักษณ์
• งานหัตถกรรม ภูฏานจัดหมวดหมู่งานฝีมือของตนเป็น โซริกซูซุม หมายถึง งานช่างสิบสามหมู่ สันนิษฐานว่าการจัดประเภทงานช่างสิบสามหมู่นี้จะมีขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ในสมัยของท่านเต็นชิน รับเย (เดสิคนที่ 4 ปี ค.ศ. 1680-1694) โดยแบ่งออกเป็นงานเครื่องไม้ งานก่อหิน งานประติมากรรม งานจิตรกรรม งานปั้นดินเหนียว งานหล่อโลหะ งานกลึงไม้ งานหลอมโลหะ งานเครื่องประดับ งานสานไม้ไผ่และหวาย งานผลิตกระดาษ งานปัก และงานทอ
• ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้งานหัตถกรรมของภูฏานมีราคาค่อนข้างแพง เพราะไม่ใช่สินค้าที่ทำขึ้นเพื่อขายให้กับตลาดนักท่องเที่ยวโดยตรง งานฝีมือส่วนใหญ่เป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปแล้วงานฝีมือในภูฏานมักมีราคาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเซีย รวมถึงผ้าปักและผ้าทอแบบโบราณ สินค้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผ้าทอ มีราคาค่อนข้างแพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะว่า สินค้ามีน้อยไม่พอกับความต้องการ แรงงานในภูฏานขาดแคลน การใช้เครื่องจักรผ่อนแรงก็มีอยู่น้อย การผลิตต้องทำเองกับมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่การย้อมสีด้าย การเข้าป่าไปตัดไม้ไผ่ ไปจนถึงการทอและการถักดิ้นเงินดิ้นทองขลิบขอบผ้า นับเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลายาวนาน ผ้าทอบางชิ้นต้องใช้เวลาทอกันนานนับปี
• ผ้าทอภูฏาน ผู้หญิงภูฏานจะทอผ้าอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงในภาคกลางและภาคตะวันออกซึ่งมีฝีมือทางด้านทอผ้าเป็นพิเศษ แต่ละภูมิภาคจะมีผ้าทอในแบบฉบับของตนโดยเฉพาะ
• หูกทอผ้าของภูฏานมีอยู่ทั้งหมดสี่แบบด้วยกัน คือ หูกแนวราบมีที่เหยียบ หูกแนวตั้งมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นแถวเรียงต่อกัน หูกกรอบเล็ก (ใช้สำหรับทำเข็มขัดเท่านั้น) และหูกแนวนอนมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นม่านอยู่ด้านหลัง หูกประเภทหลังนี้มีแต่ผู้หญิงชาวลายะในภาคเหนือเท่านั้นที่ใช้กัน
• เส้นใยที่ใช้ทอมีทั้งฝ้าย ขนสัตว์ ไหม ทั้งไหมดิบและไหมสำเร็จรูป ขนจามรี และใยต้นเน็ตเทิง (สมัยก่อนใช้ทำเสื้อผ้าด้วย แต่ทุกวันนี้ใช้ทอเป็นถุงย่ามอย่างเดียว มีเนื้อเหนียวและทนทานมาก) พวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางภาคเหนือจะใช้ขนจามรีทอเป็นกระโจม เสื้อกันหนาว และเสื้อผ้าที่กันน้ำได้ สีย้อมส่วนใหญ่จะได้มาจากพืชและหินแร่โดยผู้ทอจะทำสีย้อมขึ้นเอง สีย้อมเคมีก็มีใช้ สังเกตได้ง่ายจากสีผ้าที่สดใสสะดุดตาเป็นพิเศษ
• ผ้าทอแต่ละชนิดของภูฏานมีชื่อเรียกต่างกันไปตามเส้นใย สีสัน และลวดลาย ผ้าขนสัตว์ลายตารางสี่เหลี่ยมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสีเป็นสำคัญ ชุดผ้าไหมของสตรีที่มีสีขาวเป็นสีพื้นแล้วปักลายดอกประดับ จะเรียกว่าชุดกูซูตารา ถ้าสีพื้นเป็นสีฟ้าจะเรียกว่า ชุด โอซัม ผ้าพื้นเหลืองที่มีแถบสีเขียวและสีแดงคาด ทอลายเป็นลายเชือก จะเรียกว่า ผ้าเมนซิมาทรา
• ผ้าภูฏาน ถ้าไม่ทอเป็นแถบลายริ้ว (แนวนอนสำหรับผู้หญิง แนวตั้งสำหรับผู้ชาย) ก็ต้องทอเป็นลายตารางสี่เหลี่ยม (ใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย) ทุกลายจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สวัสดิกะ วงล้อ หรือ วัชระ ฯลฯ
• ไหมดิบ หรือ บูรา ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากรัฐอัสสัม ฝักไหมที่ใช้เป็นพันธุ์ Philosome cynthia ไม่ใช่พันธุ์ Bombyx mori ที่ใช้ผลิตผ้าไหมจีน ศรัทธาในพระศาสนาทำให้ชาวภูฏานไม่ต้มฝักไหมในขณะที่ตัวไหมยังอยู่ในฝัก แต่จะรอจนตัวไหมออกจากฝักไปก่อน เส้นใยไหมจึงขาดก่อนที่จะมีการสาวไหมเสียอีก ด้วยเหตุนี้ ผ้าไหมของภูฏานจึงมีเนื้อหยาบกว่าผ้าไหมจีนมาก
• เครื่องประดับ ช่างทำเครื่องประดับอัญมณี ทอง และ เงิน ถือเป็นชนชั้นพิเศษในสังคม ถ้าเป็นของใช้ทั่วไปจะใช้เงินทำแล้วค่อยนำไปชุบทองอีกต่อหนึ่ง ถ้าเป็นเครื่องประดับอัญมณีจะมีทั้งที่ทำจากทองและเงิน ส่วนเครื่องเงินจะทำโดยนำเงินมาตีขึ้นเป็นรูป แล้วแกะเป้นสัญลักษณ์นำโชคต่างๆ หรือไม่ก็นำพลอยมาฝังเป็นรูปตามต้องการ
• พลอยที่ชาวภูฏานชื่นชอบและนิยมกันมากคือ หินปะการังและ ชี (ชี คือ หินโมราที่เส้นสีขาวฝังอยู่) พลอยสองชนิดนี้มีราคาสูงมาก ชาวภูฏานเชื่อว่า ชีเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ความจริง ชีเป็นหินโมราที่ช่างฝังเส้นสีขาวเอาไว้ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน และด้วยเหตุที่เทคนิคดังกล่าวได้สูญหายไปนานแล้ว ชี จึงมีคุณค่าและราคาสูงเป็นพิเศษ
• สร้อยหินโมรา ชี และสร้อยลูกปัดหินปะการังเส้นใหญ่ที่สตรีภูฏานสวมใส่กันในงานเทศกาลไม่ใช่ของที่มีไว้ซื้อขาย แต่เป็นมรดกตกทอดกันในตระกูล ปัจจุบันราคาการซื้อขายชีในตลาดภายในประเทศอาจสูงถึง 2,500-3,000 ยูโร และทางการก็ห้ามนำพลอยชนิดนี้ออกนอกประเทศอย่างเด็ดขาด
• งานแกะสลักไม้ ไม้ไผ่ และหวาย รูปสลักไม้แกะมักทำขึ้นจากไม้สนหรือไม้วอลนัต ส่วนใหญ่จะทำขึ้นในเขตตาชิยังซี ในภาคตะวันออก งานหัตถกรรมจากไม้ไผ่และหวายส่วนใหญ่จากมาจากชาวบ้านในเขตปกครองเค็ง เช่น คันธนู นอกจากนี้ยังมีการทำกระดาษจากเปลือกไม้ชนิดพิเศษ
• ศิลปะการแสดงและดนตรีภูฏาน
• ภูฏานได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่มีศาสนาพุทธเป็นแก่นอย่างเด่นชัด ทั้งศิลปะพื้นบ้านและศิลปะระดับชาติ เมื่อพระปัทมสัมภวะหรือคุรุ รินโปเช นำศาสนาพุทธเข้ามาในภูฏานนั้น ท่านต้องต่อสู้กับภูติผีปิศาจที่ชาวพื้นเมืองนับถือ จนสามารถเอาชนะปิศาจต่างๆ ได้ ชาวพื้นเมืองจึงเลื่อมใสศรัทธาด้วยกุศโลบายของท่านปัทมสัมภาวะ ท่านได้ผนวกเอาภูติผีต่างๆ มาทำหน้าที่เป็นธรรมบาลในพระพุทธศาสนา ให้ชาวบ้านเห็นว่า ศาสนาพุทธมีอำนาจอยู่เหนือวิญญาณชั่วร้ายทั้งปวง การทำพิธีทางศาสนาของชาวพุทธในภูฏานจึงต้องมีการร่ายรำของเหล่าภูติผีปิศาจที่มีท่าทางน่าเกลียดน่ากลัว เช่น ระบำกลอง และระบำสวมหน้ากาก เป็นต้น งานแสดงทางศิลปะเหล่านี้จึงจัดขึ้นเป็นงานใหญ่ในเทศกาลประจำปีสำคัญๆ ของภูฏาน
• ด้านวัฒนธรรม
• ชาวภูฏานเป็นชาวพุทธที่สุภาพ อ่อนน้อม มีน้ำใจ และนับถือผู้อาวุโส ทั้งยังเป็นมิตรและยินดีให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏานนั้น สมถะและเรียบง่าย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจน แต่ชาวภูฏานก็มีความสุขและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่นิยมการเบียดเบียนหรือรบกวนผู้อื่น
• ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายและสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หากฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งยังมีกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ (ยกเว้นนักท่องเที่ยวที่นำบุหรี่เข้ามาสูบเอง แต่ก็อนุญาตให้สูบบุหรี่ได้เฉพาะสถานที่บางแห่งเท่านั้น)
• ในด้านการสื่อสาร รัฐบาลมีมาตรการควบคุมสื่อทุกชนิด เพิ่งจะอนุญาตให้ประชาชนรับชมโทรทัศน์และมีอินเตอร์เน็ตในปี ค.ศ. 1999 จากเดิมที่รับฟังข่าวสารจากโลกภายนอกได้ทางวิทยุเพียงอย่างเดียว รายการทีวีในภูฏานควบคุมโดยรัฐบาล ซึ่งมีช่องรัฐบาลช่องเดียว ทั้งยังไม่อนุญาตให้ชาวบ้านมีจานรับสัญญาณดาวเทียมที่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์จากต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบัน นโยบายนี้ผ่อนคลายลง โรงแรมในเมืองใหญ่ของภูฏานมีโทรทัศน์ที่สามารถรับชมข่าวต่างประเทศได้
• ในด้านการศึกษา รัฐบาลภูฏานมีนโยบายให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรี ดังนั้น เด็กๆ ชาวภูฏานจึงได้รับการดูแลด้านการศึกษาอย่างดี โดยรัฐบาลจัดการให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษกับภาษาภูฏาน (ภาษาซองคา) ในสัดส่วน 50:50 เพราะตระหนักดีว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นประโยชน์และเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ชาวภูฏานสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้
• ภูฏานกับสถาบันกษัตริย์
• กษัตริย์เป็นสถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวภูฏานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นกษัตริย์นักพัฒนาแล้ว ความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฏรและการเข้าถึงประชาชนของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” ของชาวภูฏาน อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลักความสุขมวลรวมของชาติ (Gross National Happiness) แทนการวัดการพัฒนาเป็นค่าทางเศรษฐกิจ



หน้าที่ :: 1   2   3   4   5   6   7   8   9   10   11  


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved