Neric-Club.Com
  สารบัญเว็บไซต์
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14052626  

เรื่องราวรอบรู้

 

บทที่ 15 การรักษาด้วยยา



ยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคสมาธิสั้น ควบคู่ไปกับการฝึกต่างๆในบทที่ผ่านมา การใช้ยานอกจากจะลดอาการสมาธิสั้น อาการซนอยู่ไม่นิ่งได้แล้ว ยังช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น รู้จักยั้งคิด รู้จักฟัง ทำให้การฝึกนิสัยต่างๆง่ายขึ้นอย่างมาก


ยาออกฤทธิ์อย่างไร


ยาที่ใช้ในโรคสมาธิสั้น ออกฤทธิ์ทำให้สมองของเด็กสมาธิสั้นส่วนที่ทำหน้าที่ต่างๆน้อย กลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเด็กทั่วไป ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้น ควบคุมสมาธิได้ดีขึ้น ตั้งใจทำงาน ทำงานเสร็จ เรียนรู้เรื่อง เรียนสนุก อยากเรียน ผลการเรียนดีขึ้น มีทัศนคติด้านบวกต่อการเรียน มีความมั่นใจในการเรียน รู้สึกตนเองทำอะไรประสบผลสำเร็จดีกว่าเดิม ความรู้สึกต่อตนเองดีขึ้น ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น อาการซนอยู่ไม่นิ่งลดลง

สมองของเด็กสมาธิสั้น ส่วนที่หน้าที่น้อย ได้แก่
  • สมองส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่คัดกรองสิ่งกระตุ้นที่อยู่รอบๆตัวเด็ก ปกติเด็กจะคัดกรองสิ่งกระตุ้นให้เป็นระบบ ไม่เข้าไปแย่งความสนใจกันในสมองมากเกินไป สิ่งกระตุ้นที่เข้าไปพร้อมๆกันโดยไม่คัดกรอง ทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน(ซึ่งไม่สนุก)ได้ ไม่สามารถตั้งใจทำงานที่ยากจนจบได้

  • สมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ สร้างความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ คิดวิเคราะห์ วางแผน และควบคุมตนเอง ให้สงบนิ่ง ไม่ทำตามใจตนเอง หยุดยั้งคิดไตร่ตรอง



ยามีกี่ประเภท


ยาที่ใช้รักษาอาการโรคสมาธิสั้น ที่ใช้บ่อยมีดังนี้

1. เมธิลเฟนิเดต (Methylphenidate) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด รักษาได้ผลประมาณร้อยละ 80 เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยากระตุ้นประสาท ในประเทศไทยขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ

แบบออกฤทธิ์สั้น (ชื่อการค้า Ritalin และ Rubifen) ออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาทีหลังรับประทาน ฤทธิ์ยาอยู่นานประมาณ 3-4 ชั่วโมง ต้องให้ยาวันละ 2-3 ครั้ง (เช้า-เที่ยง หรือ เช้า-เที่ยง-บ่าย ขึ้นกับอาการ) ขนาดเริ่มต้นในการรักษา 5 มิลลิกรัม หลังอาหาร เช้า-เที่ยง หรือ เช้า-เที่ยง-บ่าย และเพิ่มได้มื้อละ 2.5-5 มิลลิกรัม จนกระทั่งเด็กอาการดีขึ้น

แบบออกฤทธิ์ยาว (ชื่อการค้า Concerta) ออกฤทธิ์นานประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น เนื่องจากการใช้ยาแบบออกฤทธิ์สั้นมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เด็กลืมกินยามื้อเที่ยง เบื่อกินยา อาย ไม่อยากให้เพื่อนเห็นว่าต้องกินยาที่โรงเรียน รู้สึกกลัวเพื่อนรู้ว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช ยาหมดฤทธิ์เร็วทำให้อาการอาจมีลักษณะ “ขึ้น-ลง”ตามระดับของยาในร่างกาย โอกาสเกิดอาการขาดยา ดื้อยา มีมากกว่า

ยาใหม่ที่มีการออกฤทธิ์ยาวจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ

  1. เด็กกินยาเพียงวันละครั้ง สะดวก ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมกินยามื้อกลางวัน

  2. เพิ่มความร่วมมือต่อการกินยา

  3. ไม่พบลักษณะ “ขึ้น-ลง” ของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการขาดยา หรืออาการแกว่ง(มีอาการมากตอนยาลดระดับ เช่นตอนเย็นอยู่ที่บ้านจะซนกว่าเดิม) เนื่องจากระดับยาในร่างกายจะค่อยๆลดระดับลง

  4. โอกาสเกิดการดื้อยาน้อยกว่า

  5. เด็กยังคงมีสมาธิดีขณะทำการบ้านในตอนเย็น เนื่องจากยายังไม่หมดฤทธิ์

  6. โอกาสที่ผู้ป่วยนำยาไปใช้เป็นยาเสพติดมีน้อย เนื่องจากรูปแบบของเม็ดยา Concerta ไม่สามารถทำให้แตก หรือปริได้โดยง่าย เด็กจึงไม่สามารถนำตัวยามาเสพสู่ร่างกายโดยวิธีอื่นได้ หากเด็กกินก็จะไม่ได้ความรู้สึก “เป็นสุข” เนื่องจากระดับยาไม่ได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนั้นได้ แต่ระดับยาจะค่อยๆไต่ระดับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ข้อดีนี้อาจช่วยลดความกังวลของพ่อแม่ที่เกรงว่า เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดยาหากรับประทานยาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับยากระตุ้นประสาท


เม็ดยา Concerta เป็นแคปซูล ที่มีลักษณะเป็นให้น้ำซึมผ่านเข้าได้ โดยด้านนอกเคลือบด้วยยาที่ถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ภายใน 20-30 นาทีหลังจากรับประทาน ส่วนภายในถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่บรรจุด้วยยา 2 ส่วน อีกหนึ่งส่วนเป็นส่วนดันยา ที่จะทำงานเมื่อน้ำซึมผ่านเข้ามาในเม็ดยา กลไกนี้เองที่ทำให้ Concerta มีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานถึง 12 ชั่วโมง


2. อโทม็อกซิทีน atomoxetine (ชื่อการค้า Strattera) เป็นยาในกลุ่ม Selective Norepinephrine Reuptake Inhibitor (SNRI)เป็นยาใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ข้อดีของยานี้ คือ ไม่ใช่ยาในกลุ่มกระตุ้นระบบประสาท



3. ยาต้านโรคซึมเศร้า ได้แก่

  • ยาต้านโรคซึมเศร้าไทรไซคลิค (Tricyclic antidepressant) ชื่อImipramine(ชื่อการค้า Tofranil) และ Nortriptyline(ชื่อการค้า Nortrilen)

  • ยาต้านโรคซึมเศร้าอื่นๆ ได้แก่ Buproprion (ชื่อการค้า Quomem SR) หรือ Venlafaxine (ชื่อการค้า Efexor XR/)



4. ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives) ได้แก่ Clonidine (ชื่อการค้า Catapres)

5. ยาต้านโรคจิต Antipsychotics ได้แก่ยาในกลุ่ม atypical antipsychotics เช่น Risperidone (ชื่อการค้า Risperdal)



ต้องกินยานานเท่าใด


ยานี้เมื่อได้ผลดี แพทย์จะให้กินทุกวัน ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ส่วนใหญ่จะหยุดยาได้ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว เด็กที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมดี จะหยุดยาได้เร็ว แต่มีบางคนที่ยังกินยาต่อไปจนเป็นผู้ใหญ่ หรือใช้ยาบางครั้งบางสถานการณ์ที่ต้องการสมาธิมากๆ


ยานี้กินนานๆจะติดไหม มีผลต่อร่างกายระยะยาวหรือไม่


ยาที่ใช้ทุกตัวไม่ทำให้ติด แม้จะกินติดต่อกันนาน เนื่องจากฤทธิ์ของยาไม่ทำให้เกิดความพอใจเหมือนยาเสพติด แพทย์มีข้อมูลยืนยันได้จากการรักษาเด็กจำนวนมาก เป็นเวลานานหลายปีแล้ว พบว่ายานี้ปลอดภัย ไม่ติดยา ไม่มีผลต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย(ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง ฯลฯ) ในระยะยาว



ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง


เมธิลเฟนิเดต(Methylphenidate) มีผลข้างเคียงดังนี้

  • เบื่ออาหาร ในมื้อต่อมา แต่จะกินชดเชยในมื้ออื่นๆ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว

  • ปวดศีรษะ อาจเกิดในมื้อแรกๆ เมื่อให้กินยาต่อไป จะดีขึ้นและหายปวดหัวได้เอง ร่างกายมีการปรับตัวต่อยาได้ ไม่มีอันตราย ไม่ต้องหยุดยา

  • นอนไม่หลับ โดยเฉพาะเมื่อกินยาหลังเวลา 17.00 น. ถ้าแพทย์ให้กินยามื้อบ่ายหรือเย็น ควรกินก่อนเวลา 17.00 น.


อาการข้างเคียงของยานี้ ไม่ได้เกิดทุกคน แพทย์มักแนะนำก่อนการให้ยา และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง ถ้าสงสัยให้รีบติดต่อแพทย์ผู้รักษาโดยเร็ว



อธิบายให้เด็กยอมรับการกินยาได้อย่างไร


  1. เด็กวัยเรียนมักเข้าใจเหตุผลของการกินยา แพทย์และพ่อแม่ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจตรงกันว่า ยาช่วยให้เขาควบคุมสมาธิและตั้งใจเรียนได้ดีขึ้น ควรแนะนำด้วยว่าโรคที่เป็นนี้ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท เขาเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งรักษาได้ ยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาร่วมกับการฝึกพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้เขาเป็นคนเก่งขึ้น ตั้งใจทำงานหรือเรียนได้ดีขึ้น

  2. อธิบายว่ายานี้ไม่มีผลต่อร่างกายระยะยาว ไม่ติดยา ไม่ต้องกลัว ถ้าสงสัยให้ปรึกษาแพทย์ ทันที

  3. อธิบายว่ายานี้ไม่ใช่ยาระงับประสาท ไม่กดประสาท ไม่ง่วงไม่งง แต่จะทำให้นิ่งขึ้น ไม่ใช่อาการซึม เมื่ออยู่นิ่ง ควรให้เด็กเรียน หรือทำงาน เพราะเวลาที่นิ่งๆนั้นจะควบคุมสมาธิได้ดี

  4. ควรพยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการกินยาเอง เป็นการฝึกความรับผิดชอบ และมีทัศนคติดีต่อการกินยา

  5. พ่อแม่ และครูไม่ควรพูดถึงการกินยา หรือการเป็นโรคนี้ทางด้านลบ หรือล้อเลียนให้เด็กอาย



เด็กควรบอกเรื่องการกินยาแก่เพื่อนและครูอย่างไร


พ่อแม่ควรสอนให้เด็กให้สามารถบอกเพื่อน หรือครูได้ ว่าเขาเป็นอะไร ทำไมถึงต้องกินยา ควรให้เด็กเตรียมคำพูดเหล่านี้

“ผมกินยาสมาธิสั้น หมอให้กินยาเพื่อให้มีสมาธิดีขึ้น ตั้งใจเรียน และทำงานเสร็จ”

“โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท รักษาได้”

“อาการซนอยู่ไม่นิ่งเป็นจากโรคสมาธิสั้นนี้”

“โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยๆ ในนักเรียนพบ ประมาณ ร้อยละ 5”

“หลังจากกินยาแล้วประมาณ ครึ่งชั่วโมง จะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น”



ครูมีส่วนช่วยเหลือในการกินยาอย่างไร


  1. ในเด็กอายุน้อย มักลืมกินยามื้อเที่ยง ครูอาจช่วยเตือน(เป็นการส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องให้เด็กอื่นรับทราบ หรือประกาศให้มากินยาต่อหน้าเด็กอื่น)

  2. ครูอาจช่วยจัดยาให้เด็ก โดยพ่อแม่ฝากยาไว้กับครู เมื่อถึงเวลา ให้เด็กมาพบครูเพื่อรับยา ถ้าเด็กลืมค่อยเรียกให้มารับยา ดูให้เด็กกินต่อหน้า โดยเฉพาะในเด็กที่มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการกินยา

  3. ชมเมื่อเด็กรับผิดชอบการกินยา ตามที่ตกลงกันไว้

  4. กำกับให้กินยา โดยไม่ต้องพูดมากสอนมาก

  5. ให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การกินยาในความดูแลของแพทย์มีความปลอดภัย ได้ประโยชน์ เช่น ครุเห็นชัดเจนว่าตั้งใจเรียนขึ้น ทำงานเสร็จ เรียบร้อย อารมณ์ดี เป็นต้น

  6. ชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น ให้เด็กเข้าใจว่า ดีขึ้นเนื่องจาก “ครึ่งหนึ่งจากยา อีกครึ่งหนึ่งจากการควบคุมตัวเอง”

  7. พยายามให้เด็กรับผิดชอบกินยาเอง เตือนตัวเอง ให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

  8. ไม่หงุดหงิดกับการลืมกินยา เพราะเป็นอาการของโรคสมาธิสั้นนั่นเอง

  9. ให้ความมั่นใจกับพ่อแม่ เมื่อพฤติกรรมหลังการกินยาดีขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่เห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้มากเท่าที่คุณครูเห็น (ตอนเย็น ยาหมดฤทธิ์แล้ว ที่บ้านจึงเห็นซนเหมือนเดิม)



ไม่กินยาได้หรือไม่


การศึกษาติดตามระยะยาวพบว่า ถ้าไม่กินยามีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆตามมามากกว่า การเลี้ยงดูฝึกนิสัยต่างๆ ทำได้ยากมาก และที่สำคัญคือ เด็กขาดการเรียนรู้เรียนไม่สนุก ไม่อยากเรียน เบื่อเรียน จนเกิดทัศนคติด้านลบต่อการเรียน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเมื่อโตขึ้น

ปัจจุบันนี้ แพทย์จึงแนะนำให้กินยาต่อเนื่องกันทุกวัน แม้ในวันที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฤทธิ์ของยาจะช่วยด้านพฤติกรรมอื่นๆด้วย

การหยุดยาเป็นระยะๆอาจพิจารณาในบางราย เช่น หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม แต่ในรายที่เป็นมาก มักแนะนำให้กินทุกวัน ประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่ากว่าการไม่กินยาอย่างมาก


เมื่อเด็กไม่กินยา


  1. พูดคุยสอบถามเด็ก เรื่อง ผลข้างเคียงของยา อายเพื่อน ลืม เบื่อ ไม่มีน้ำกิน ยาหาย รับฟังความไม่สบายใจอย่างสงบ อย่าเพิ่งสอน เตือน ดุ ก่อนจะฟังจนจบ

  2. ชวนเด็กคิดว่า จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ชมการคิดแก้ปัญหาที่ดี ชี้แนะ หรือ แนะนำตรงในประเด็นที่เด็กคิดไม่ออก แต่สร้างความรู้สึกว่า ถึงอย่างไรคงต้องกินยา แต่จะให้เกิดปัญหาตามมาน้อยที่สุดอย่างไร

  3. ให้ความมั่นใจในผลของการใช้ยา ประโยชน์ในเรื่องสมาธิ และการช่วยควบคุมตนเอง ซึ่งเด็กอาจไม่ทราบว่าตนเองดีขึ้น

  4. ช่วยกันหาวิธีป้องกันการ “ลืม” เช่น มีการเขียนเตือนไว้ที่กล่องอาหารกลางวัน ใส่ยาไว้ในกล่องในกระเป๋า จะมีเสียงดังเวลาขยับตัว เตือนให้เด็กคิดถึงการกินยา

  5. เขียนตารางกิจกรรมส่วนตัว ทุกวัน กำหนดการกินยา

  6. เมื่อเด็กลืมกินยา อย่าดุหรือลงโทษ ควรชมที่มาเปิดเผยความจริง และชวนคุยต่อ ว่าจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร (การดุ ทำโทษ ในกรณีนี้จะทำให้เด็กหลีกเลี่ยง ปกปิดเวลาลืม หรือแอบทิ้งยา เพราะกลัวถูกจับได้ว่าลืม)


ประโยคเด็ด เกี่ยวกับการกินยา


คำพูดของพ่อแม่ และครู มีความหมายต่อความคิดและพฤติกรรมการกินยาเด็กอย่างมาก ประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ควรเปลี่ยนแปลง ได้แก่

“ซนอีกแล้วใช่ไหม ลืมกินยาหรือเปล่า” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ไหนพ่อขอดูยาที่เหลือหน่อย เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า”

“อย่าลืมกินยานะ” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ลูกจะเตือนตัวเองอะไรดี”

“ทำไมถึงลืมกินยา” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “เกิดอะไรขึ้น ลูกจึงไม่ได้กินยา”

“ทำไมพูดไม่จำนะ ว่าต้องกินยาทุกวัน” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ลูกจะเตือนตัวเองเรื่องยา อย่างไร”

“เบื่อจริงๆเลย ต้องให้บอกทุกวัน” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “แม่เป็นห่วง เรื่องการได้รับยาสม่ำเสมอ ตามที่หมอแนะนำ"

“ไม่ได้เรื่องเลย อย่างนี้ยาก็ช่วยไม่ได้” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “บางทีการฝึกนิสัยต่างๆก็ต้องใช้เวลานะ พยายามอีกหน่อย ยาคงช่วยได้เพียงครึ่งเดียว ที่เหลือเป็นความพยายามของลูกนะ”

“ยากันแสบอยู่ไหน กำเริบอีกแล้ว” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “พ่อเห็นว่าลูกไม่ค่อยนิ่ง สงสัยว่าจะลืมกินยา”

คำพูดที่ดี คือคำพูดที่ไม่สร้างความรู้สึก”ลบ” กับการเป็นโรคสมาธิสั้นนี้ หรือด้าน”ลบ” ต่อการกินยา


สรุป


พ่อแม่และคุณครู สามารถช่วยให้เด็กสมาธิสั้นเข้าใจตนเอง เห็นประโยชน์ของการกินยาอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการฝึกพฤติกรรมต่างๆ


เอกสารอ้างอิง


1. Barkley RA. Attention deficit hyperactivity disorder : a handbook for diagnosis and treatment. The Guilford Press:New York, 1990.
2. Hersen M Van Hasselt VB. Behavior therapy with children and adolescents: a clinical approach. John Wiley&Son,Inc. :New York, 1987.
3. Matson JL ed. Handbook of hyperactivity disorder in children. Allyn and Bacon:Boston, 1993.
4. Taylor EA ed. The overactive child. Mac Keith Press:Sufffolk,1986.

หนังสือและเอกสารที่น่าอ่านเพิ่มเติม


1. วินัดดา ปิยะศิลป์ คู่มือสำหรับพ่อแม่ ตอน เด็กสมาธิสั้น บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ 2537 ISBN 974-7803-45-3

2. ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เพื่อความเข้าใจเด็กสมาธิสั้น/ซน สำหรับผู้ปกครองและครู แจนเซ่น ซีแลค กรุงเทพฯ

3. ชาญวิทย์ พรนภดล มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ แจนเซ่น ซีแลค กรุงเทพฯ 2546

4. ธัญญา ผลอนันต์ ใช้หัวคิด แปลและแปลงเป็นไทย พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ขวัญข้าว กรุงเทพฯ 2544 ISBN 974-87775-2-9

5. พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์ เด็กสมาธิสั้น คลินิคส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ



หน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น


  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

  • คณะแพทยศาสตร์ของรัฐและเอกชนทุกแห่ง

  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

  • โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

  • โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ที่มีบริการจิตเวชศาสตร์ หรือจิตเวชเด็กและวัยรุ่น



ผู้นิพนธ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ พนม เกตุมาน
หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษา
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

  • วุฒิบัตรจิตเวชศาสตร์ หนังสืออนุมัติจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

  • Diploma of Child and Adolescent Psychiatry Institute of Psychiatry London 1993


Websites http://www.psyclin.co.th


หน้าที่ :: 31   32   33   34   35   36   37   38   39   40   41  


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved